BACK

ความท้าทายคือความสนุก

ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท JARKEN ที่มีทั้งธุรกิจสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน การก่อสร้าง งานออกแบบกราฟฟิก รวมถึง ธุรกิจการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าและตัวบุคคล ตัวเขาเองเป็นทั้งนักบริหาร นักการตลาด และนักเขียนบทความด้านงานดีไซน์ การตลาด สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และการก่อสร้าง

เขาประสบความสำเร็จในสายงานนี้ทั้งที่ไม่ใช่ความใฝ่ฝันในวัยเยาว์ เพราะหลังจากเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลชีวิตไร้ทิศทาง โชคดีเหมือนจะเรียนเก่งเพราะได้เกรดสูง ฝ่ายแนะแนวก็แนะให้เรียนหมอหรือวิศวะ เขาสอบติดคณะวิศวกรรมศาตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตอนที่เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมโยธานั้นเขารู้เพียงแค่เรื่องเกี่ยวกับอิฐ หิน ปูน ทราย และการก่อสร้าง แม้ไม่ชอบสักเท่าไร แต่กลับได้วิธีคิดแบบวิศวกร คือคิดทื่อๆอย่างเป็นระบบ เมื่อเรียนจบก็เริ่มทำงานที่บริษัทก่อสร้างในเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งสนับสนุนการก่อสร้างของบริษัทอื่นๆ ในเครือ

ชีวิตการทำงานของผู้ชายคนนี้มักถูกท้าทายมาโดยตลอด และเขาก็บอกว่า ‘ผมชอบการเอาชนะ ชอบความท้าทาย’

GM BiZ :เพราะอะไรถึงโดนท้าทายอยู่บ่อยๆ ครับ ดร.กุลเดช : คงเป็นเพราะตั้งแต่สมัยเริ่มทำงานใหม่ๆเวลาผมเข้าไปไซต์งาน รุ่นพี่ผู้จัดการโครงการที่เป็นวิศวกรไฟฟ้าพูดขึ้นมาว่า “วิศวกรโยธาแบบพวกคุณ แค่เปิดตำราก็ดีไซน์ได้ผมเอาตำราคุณมากางดูผมก็ดีไซน์ได้เหมือนกัน” ผมมาทบทวนคำพูดนี้อีกครั้งก็พบว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆคือเราถูกสอนให้คิดอยู่ในกรอบ และทำงานแบบเดินตามตำราหมด

จุดนั้นทำให้ผมคิดว่าวงการก่อสร้างไทยไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าเร็วทางความคิดสักเท่าไหร่ ดังนั้นเมื่อผมทำงานได้หนึ่งปี ผมก็ไปเรียนต่อในสาขาที่เหินห่างจากการก่อสร้างไปเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในปริมณฑลของอสังหาริมทรัพย์ ผมเรียนด้านบริหารงานการออกแบบและก่อสร้าง (Design and Construction Management)

การที่ผมไม่เรียนเอ็มบีเอทั้งๆที่กำลังฮ็อทมากในช่วงนั้น เพราะว่าผมไม่ใช่นักธุรกิจ ผมคิดว่าผมอยากจะเป็นมากกว่านักธุรกิจ ก็เลยเรียนอะไรที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

จุดนั้นทำให้ผมคิดว่าวงการก่อสร้างไทยไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าเร็วทางความคิดสักเท่าไหร่ ดังนั้นเมื่อผมทำงานได้หนึ่งปี ผมก็ไปเรียนต่อในสาขาที่เหินห่างจากการก่อสร้างไปเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในปริมณฑลของอสังหาริมทรัพย์ ผมเรียนด้านบริหารงานการออกแบบและก่อสร้าง (Design and Construction Management)

GM BiZ :ทำไมถึงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ดร.กุลเดช : ผมเลือกที่นี่เพราะเป็นระดับท็อปไฟว์ในสาขาที่ผมเรียน หลังจากที่ผมเรียนจบแล้วก็จะบินกลับมาเมืองไทยทางบ้านบอกว่าจะกลับมาทำไมเพราะเศรษฐกิจไทยพัง ปีนั้นคือปี 2539 เพราะผมจบที่สองของรุ่นผมเลยได้ทุนเรียนปริญญาเอกต่อในสาขา Economic Analysis in Real Estate ผมทำงานไปเรียนไปด้วยประมาณสามปีครึ่งแล้วกลับประเทศไทย

GM BiZ :ได้อะไรจากอังกฤษบ้างครับ ดร.กุลเดช : ได้การมองโลกกว้างขึ้นในมุมที่ตัวเองอยากมอง แคบลงในมุมที่คนอื่นหรือตัวเองไม่เคยมองเห็นผมมีโอกาสอ่านหนังสือหลากหลายสาขา เปิดตำราและงานวิจัยเป็นร้อยๆชิ้น เหมือนกับเปิดตาตัวเองก็ได้รู้จักสังคมวัฒนธรรม วิธีคิดในมุมของคนอังกฤษและคนยุโรป

GM BiZ :กลับเมืองไทยมาทำอะไรครับ ดร.กุลเดช : ผมกลับมาในปี 2542 เนื่องจากผู้จบปริญญาเอกในสาขานี้มีค่อนข้างน้อยในช่วงแรกผมทำงานให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) คือเป็นที่ปรึกษาอิสระ นอกนั้นก็สอนระดับปริญญาโท เป็นอาจารย์ประจำวิชาและอาจารย์พิเศษอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย และผมได้ทำ Post Doctorate โดยทำวิจัยกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผมได้ทุนจาก สกว.ด้วย

GM BiZ :ตอนเริ่มทำธุรกิจของตนเองมีแนวความคิดอย่างไครับ ดร.กุลเดช : ตั้งเป้าว่าจะทำเกี่ยวกับงานออกแบบ หรือทำอะไรร่วมกับสถาปนิก เพราะมีสิ่งที่ยังติดอยู่ในใจตั้งแต่สมัยเรียนว่าทำงานกับสถาปนิกนั้นยาก ก็เลยคิดว่าลองสวมรองเท้าของเขาดีกว่า เพื่อดูว่าที่บอกว่ายากๆนั้นจะทำอย่างไรให้มันง่าย

วงจรการขึ้นลงของธุรกิจก่อสร้างในประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 15 ปี ส่วนประเทศกำลังพัฒนาประมาณ​ 7 ปีผมเข้ามาในช่วงที่กำลังขึ้นพอดีการเริ่มต้นที่งานสถาปัตยกรรมก็ไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นก็เลยลองทำในจุดนี้ดู บริษัทดีไซน์ที่ว่านั้นก็คือ บริษัท จาร์เค็น จำกัด (JARKEN)

GM BiZ : JARKEN ย่อมาจากอะไรครับ ดร.กุลเดช : J คือตัวย่อของชื่อภรรยา AR คือ Architect K คือตัวย่อชื่อผม ส่วน EN คือ Engineer ผมก็มีคิดว่ามันน่าจะเป็นสูตรผสมที่ลงตัวระหว่างชีวิตและการทำงาน

GM BiZ : Core Competency ของ JARKEN คืออะไรครับ ดร.กุลเดช : วิธีคิดที่ทันสมัยที่ไม่ใช่แค่ดีไซน์/เรามองว่างานออกแบบไม่ได้ผูกติดหรือขึ้นอยู่กับความชอบ หรือ สไตล์ เช่นโมเดิร์น คอนเทม หรือคลาสสิค แต่เป็นวิธีคิดที่ทันสมัยที่มีคุณค่าที่เราใช้และใส่จิตวิญญาณ สื่อสารกับผู้บริโภค พูดง่ายๆ คือออกแบบให้งานคุยกับคนเป็นเจ้าของได้เข้าใจ ไม่ใช่ใช้ตัวงานเองเป็นตัวดึงดูดหรือกำหนดความชอบ เรียกว่างานออกแบบเลือกคนที่ใช่ และคนที่ใช่ก็ควรจะเลือกตัวงาน เท่าที่ผมศึกษาบริษัททางด้านการออกแบบ ก่อสร้าง ภาพลักษณ์และบริบทของแต่ละเซ็กเม้นต์มันไม่ชัดเจน อย่างเวลาต้องการผู้รับเหมา ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหน เพราะกระจัดกระจายในซอกหลืบของความไม่ชัดเจน ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากตัวตนของกลุ่มผู้รับเหมา กลุ่มรับก่อสร้าง และกลุ่มผู้ออกแบบหรือสถาปนิก สื่อสารกับผู้บริโภคได้ไม่ชัด ออกจะสับสนด้วยซ้ำในแง่ของสาระที่ต้องการให้จดจำ

ผู้เล่นทุกกลุ่มที่พูดถึงดูเหมือนจะมีแก่นที่มองเห็น แต่ขาดรูปแบบและวิธีการที่สมดุลกันในการสื่อสาร บางกลุ่มสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภครับรู้ว่าเดินเข้ามาแล้วจัดจบ แต่เอาเข้าจริงจัดไม่จบ บางกลุ่มมีจุดอ่อนคือไม่สามารถออกแบบได้ หรืองานออกแบบไม่สวย ไม่มีความทันสมัย เน้นที่สร้างง่าย สร้างเร็ว บางกลุ่มมีปัญหาในเรื่องความชัดเจนในการทำราคา บางกลุ่มมีจุดแข็งด้านภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ แต่ปฏิเสธการบริหารจัดการตัวเองและลูกค้า ซ่อนตัวเองอยู่ในมุมแคบๆหรือหลุมดำระหว่างความเป็นศิลปินกับนักวิทยาศาสตร์ สรุปแล้วผู้บริโภคทั่วไปจะงง เมื่อเวลาจะสร้างบ้านหรือสร้างอาคารสักหลังหนึ่ง ควรจะเข้าไปหาใครก่อน

JARKEN เริ่มต้นด้วยการกำหนด Positioning ตัวเองให้เป็นบริษัทดีไซน์ที่สามารถ Deliver งาน คุณภาพสูงให้ลูกค้าตั้งแต่แนวคิด จบจนถึงตัวโครงการก่อสร้าง เราศึกษาและออกแบบงานของบริษัทเราทุกชิ้นจากประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ปีๆหนึ่งผมและภรรยาจะใช้เวลาในต่างประเทศค่อนข้างมาก เราสร้างแบรนด์บริษัทของบริษัทเราบนแนวคิดของการแข่งขันกับการเอาชนะตัวเอง โดยการวิ่งหนีเงาของตัวเอง เงาของความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพและพลังของความสร้างสรรค์สิ่งนี้ทำให้แบรนด์ JARKEN แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

GM BiZ :คนพูดถึง JARKEN ว่าอย่างไรครับ ดร.กุลเดช : เป็นบริษัทออกแบบที่แปลกใหม่มีพลัง มีไดนามิค ไม่อยู่นิ่ง

GM BiZ : Target Market ของ JARKEN คือใครครับ ดร.กุลเดช : จริงๆแล้วเราอยากให้คนอื่น target เรามากกว่าเราไป target คนอื่น

GM BiZ :ลูกค้าใช้ JARKEN ทำอะไร ดร.กุลเดช : ให้หา Solution ของโจทย์งานออกแบบและก่อสร้างที่มีดีไซน์และคุณภาพสูงขณะเดียวกันเราก็ต้อง Deliver ในสิ่งที่เราสัญญากับลูกค้าได้ด้วยซึ่งปกติบริษัทอื่นก็มีวัฒนธรรมแบบที่สถาปนิกอยากออกแบบอย่างเดียว แต่ไม่อยากรับผิดชอบคุมงานก่อสร้าง ไม่ค่อยอยากจะคุยกับลูกค้าบ่อย และค่อนข้างขาด service-minded แต่วัฒนธรรมของเราตรงกันข้าม

GM BiZ :ทำไม JARKEN ต้อง Re-branding ดร.กุลเดช : เราทำวิจัยตลาดออกมาแล้วผลปรากฏว่าคนมองแบรนด์เราแข็งหรือนิ่งเกินไป ภาพลักษณ์ในความเป็นบริษัทสถาปนิกของเราเอื้อมมือจับต้องยาก เมื่อเรามีประสบการณ์มากพอถึงระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง ก็ถึงเวลาที่เราจะสื่อออกไปให้คนทราบ และผลงานของเราอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างชัดเจน เราก็ต้องการให้แบรนด์เรามีความเป็นมนุษย์ มีอารมณ์มีความรู้สึกมากขึ้น

GM BiZ : Repositioning หรือ Refreshing Brand ครับ ดร.กุลเดช : ไม่ได้ Repositioning แน่นอน เพราะ Positioning ยังเหมือนเดิม แต่เป็นการ Refreshing มากกว่า คือให้ชัดไปเลยว่า JARKEN ทำ Hi-End ก่อนหน้านี้เราไม่ได้สื่อสารออกไปอย่างเป็นระบบ มันเป็นไปตามธรรมชาติ คืองานออกแบบในลักษณะนี้ถ้าไม่ใช่ระดับ Hi-End ลูกค้าก็ไม่เดินเข้ามาอยู่แล้ว อย่างสมัยแรก ลูกค้าของเราเดินเข้าจะรู้เลย เพราะด้วยบุคลิก และมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

Positioning ของเราก็คือ Architect with Intelligence ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีมาก แต่กลับดู hi-end จนคนกลัว เราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น คือมีความหรู แต่คงความ smart เราอยากให้เป็นแบรนด์ที่จับต้องได้ คือไม่ได้ขยับออกมาจากจุดที่ยืนอยู่ แต่ทำให้ตัวแบรนด์เองเข้าถึงง่ายขึ้น และคนก็ต้องอยากจะเข้าถึงด้วย

อย่างไรก็ตามด้วยอัตลักษณ์ของแบรนด์ JARKEN คงไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เราเลยตัดสินใจปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาอีกแบรนด์ ชื่อ pye ซึ่งมี Brand Vision จบอยู่ในตัวของเค้าเอง คือ P= Practical Y=Youthful E= Exquisite ซึ่ง pye มีอายุของแบรนด์ได้ครบขวบนึงแล้ว

GM BiZ : Positioning ของ pye คืออะไรครับ ดร.กุลเดช : คือการนำกลยุทธ์เรื่อง Personal Branding มาสู่แบรนด์ pye ซึ่งเป็นตัวแทนของการสื่อสารแบบที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น คือการพาตัวเองเข้าหาคนอื่น .. ที่มาของพายพ้องเสียงและความหมายมาจาก pi คือค่าคงที่ที่มีค่าไม่รู้จบ (3.1457..) ค่าที่ไม่รู้จบนี้แหละที่มีคุณค่าที่สร้างวงกลมที่ดูเหมือนอาจจะมีกรอบ แต่วงกลมสะท้อนแนวการออกแบบของเรา แนวคิดที่มีกรอบแบบที่ 'มองไม่เห็น' เพราะพื้นที่วิ่งเล่นในวงกลม เราสามารถขยายได้ ตราบเท่าที่ พายหรือค่าคงที่ยังยืนอยู่ ลูกค้ากำหนดรัศมีของวงกลมให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ทำให้เราสร้างพื้นที่จินตนาการในกรอบของวงกลมที่กว้าง และยืดหยุ่นขึ้น ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า pye ทำงานด้วยง่ายและเร็ว เพราะเราตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป โดยที่คุณภาพการดีไซน์ก็จะไม่ได้ลดลงและยังอยู่ภายใต้งบประมาณที่ลูกค้ากำหนด

GM BiZ :สมมุติว่าผมเป็นลูกค้า ผมจะเข้าไปใช้บริการของ JARKEN หรือ pye ผมต้องทำอย่างไร ดร.กุลเดช :เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาจะมีทีม Client Service เข้าไปพูดคุย เพื่อที่จะอธิบายวิธีการทำงานและความแตกต่างของทั้งสองแบรนด์ให้ลูกค้าฟังก่อน เช่นถ้าลูกค้ามีงบประมาณระดับหนึ่งเราจะแนะนำลูกค้าว่า pye จะทำงานภายใต้กรอบงบประมาณที่จำกัด ถ้าเลือก JARKEN จะมีแต่บันไดขึ้น/คืองบประมาณอาจมีโอกาสจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากรูปแบบการทำงาน เราก็ชี้ให้เห็นตรงๆแบบนี้ แต่ถ้าเป็น pye คุณจะมีแต่บันไดลงคือเราจะออกแบบและก่อสร้างให้จำกัดอยู่ในงบประมาณที่กำหนดได้ไม่เกินไปกว่านี้ พูดง่ายๆก็คือเราจะควบคุมงบให้และเราจะไม่ตามใจลูกค้าเหมือน JARKEN ซึ่งอันนั้นแล้วแต่ลูกค้าสุดๆแต่ถ้าเป็น pye คุณมีงบเท่านี้ต้องการสร้างบ้านให้เสร็จสมความปรารถนาคุณลูกค้าก็ต้องเข้าใจเรา

GM BiZ :ไม่ได้เปลี่ยนดีไซน์แต่ดูคุณภาพวัสดุให้เหมาะกับงบลูกค้าใช่ไหมครับ ดร.กุลเดช : ใช่ครับคุณภาพการดีไซน์เหมือนเดิม ตามปรกติเวลาสถาปนิกจะออกแบบก็จะมีขั้นตอนคือ Preliminary, Design Development จนถึง Construction Drawing แต่ว่าสำหรับ pye องค์ประกอบเหล่านั้นบางครั้งไม่จำเป็นต้องมี ถ้าเราพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ว่าแบบหรือขั้นตอนการทำงานเยอะ ไม่ได้หมายว่าบ้านจะออกมาสวย หากคุยกันครั้งแรกแล้วลูกค้าเข้าใจแนวคิดและกรอบของการทำงานเราจึงสามารถตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นทำแบบน้อยลงราคาก็ย่อมเยาลูกค้าก็ไดัทั้ง Functional Benefit และ Emotional Benefit

GM BiZ :ถ้าเช่นนั้น Positioning ของ pye ก็คือ Friend for your home แล้วล่ะครับหรืออาจจะเป็น Trusted friend for your home ก็ได้ ดร.กุลเดช : ศูนย์กลางของการสร้างแบรนด์ pye คือคนต้องรักแบรนด์ก่อน คนมอง pye แล้วกล้าเดินเข้ามาคุย pye เป็นเพื่อน แต่เป็นเพื่อนคนที่เท่ห์ที่สุดในกลุ่ม ดูอบอุ่น เป็นผู้นำเทรนด์ เป็นศูนย์กลางของเพื่อนคนอื่นๆ เป็นแบรนด์ที่เด่นด้วยตัวตน ก่อนสร้างแบรนด์ pye เรา research ก่อนเลยว่า คนที่จะมาใช้บริการแบรนด์ pye คือใครบ้างในสังคม? ฟังเพลงอะไร? ชอบซื้ออะไร? พอชัดเจนแล้วเราเอาชีวิตแบบนั้นมาปรับใช้กับงานบริการของ pye เอง

ปัจจุบันบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพราะอยากจะทำงานกับเราตั้งแต่ยังไม่ได้เจอหน้ากัน เพราะเค้ารู้จักเราจากใน Facebook หรือ Social Media อื่นๆ และรู้สึกสนิท และค่อนข้างแฮปปี้กับเรามาก หนึ่งปีที่เราปล่อย pye ออกไปผลตอบรับดีมาก pye ทำให้ภาพรวมของกลุ่มบริษัทเรามีความหลากหลายด้านดีไซน์มากขึ้น

GM BiZ :pye คือ Value for Money ราคาไม่ถูกนะแต่คุ้มค่าคุ้มราคา ดร.กุลเดช : ใช่ครับไม่มีใครคิดว่า pye เป็นของถูกแต่เขาคิดว่า pye เป็นของที่ซื้อแล้วคุ้ม สบายใจ อยากคุยด้วยอารมณ์ดี chillax เราแยกกันระหว่าง JARKEN และ pye

GM BiZ :ดีเอ็นเอของ JARKEN group of companies คืออะไรครับ ดร.กุลเดช :ถ้าในมุมขององค์กรคือความคิดที่ไม่หยุดนิ่ง ถ้าในมุมของการออกแบบคือดีไซน์ที่แปลกใหม่ และมีการพัฒนาตัวเองที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งพื้นฐานและประสบการณ์ของทั้งองค์กรและดีไซเนอร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์(Creativity) ที่มีอยู่นี้เองที่ทำให้เกิดบริษัท ไทเกอร์ลิลลี่ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TigerLily) บริษัทเอเจนซี่ที่ปรึกษารับสร้างแบรนด์ พัฒนาภาพลักษณ์ วางแผนทางการตลาดรวมถึงงานออกแบบกราฟฟิกต่างๆ ซึ่งเข้ามาเติมเต็มดีเอ็นเอของความเป็น JARKEN ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือความถนัดด้าน Creativity

GM BiZ :TigerLily เข้ามา support ธุรกิจของลูกค้า JARKEN และ pye/ใช่ไหมครับ ดร.กุลเดช :ปัจจุบันใช่ครับ เพราะ TigerLily เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราเลยเริ่มจากลูกค้าที่มาใช้บริการงาน JARKEN และ pye ก่อน เรามองว่างานดีไซน์ และการสร้างแบรนด์กับงานการตลาด หากมีการวางแผนควบคู่กันไปจะสามารถช่วยส่งเสริมธุรกิจ และไปถึงเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการได้ พูดง่ายๆคือ TigerLily จะทำหน้าที่เสมือนเป็นทรัพยากรที่มีชีวิต และเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าของโครงการและในภาคธุรกิจต่างๆช่วยพัฒนาต่อยอดการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้า ตั้งแต่การกำหนดทิศทางของสินค้าหรือบริการ (Brand Direction) ตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าอนาคตการดำเนินกิจการของแบรนด์นี้ควรเป็นอย่างไร หรือการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์เดิม จากนั้น TigerLily จะนำแนวทางที่ได้ไปพัฒนางาน Creative Branding ประเภทงานออกแบบกราฟฟิก งานผลิตต่างๆ ไปถึงการสื่อสารทางการตลาดและองค์กรในรูปแบบดิจิตอล ออนไลน์ และสื่ออื่นๆ

GM BiZ : ทิศทางในอนาคตของแบรนด์ JARKEN, pye และ TigerLily ดร.กุลเดช :สำหรับ JARKEN เราวางตัวเองให้เดินไปที่ความเป็น Global Brand นี่คือสิ่งที่ทำมาตลอด คือเราได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศมานาน ด้วยงานบริการระดับคุณภาพสูง และการสร้างสรรค์ผลงานที่การันตีด้วยรางวัลระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าที่เข้ามาหาเราจะมีความต้องการและความคาดหวังทะลุเป้า ซึ่งนั่นคือข้อดีที่ทำให้ระบบโครงสร้างการทำงานและบุคคลากรแข็งแกร่งขึ้น เรียกว่าวันนี้เราทำได้ระดับนี้ พรุ่งนี้ต้องดีกว่านี้ ดังนั้นการรักษาคุณภาพของแบรนด์ JARKEN ให้เป็น Architect with Intelligence/นั้นคือสิ่งที่ท้าทาย

ส่วน pye เป็น Fighting Brand เราใช้เวลาวิจัยศึกษาและพัฒนาก่อน launch แบรนด์นี้มานาน เราอยากให้ แบรนด์ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตามยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ได้รับงานบริการที่ดีสะดวก รวดเร็ว ราคาสมเหตุสมผลและบริการหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในประเทศ/อนาคตอาจจะมองไปถึงระดับ Regional หรือ AEC

pye ไม่เพียงเป็น Fighting Brand เพื่อเจาะตลาดที่ JARKEN ไม่สามารถทำได้ แต่เรายังเป็น Fighting Brand กับช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างสถาปนิกกับผู้บริโภคที่มักจะเข้าใจยาก ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ซึ่งทำให้ทุกวันนี้ pyeกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับและติดตามจากสถาปนิก อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ นักการตลาด นักโฆษณาประชาสัมพันธ์ และคอนซูเมอร์ทั่วไปกว่า 180,000 คน

ในขณะที่ TigerLily เป็นแบรนด์ที่กล้าเสี่ยงแต่ใจกว้าง อ่อนไหวแต่มั่นคง เราใช้กลยุทธ์การทำงานแบบกองโจร ไม่ใช่กองทัพที่ได้รับการหนุนจากรัฐแบบเอเจนซี่ใหญ่ๆคล้ายๆ Guerrilla Marketing/คือลงทุนทางความคิดให้เยอะ ผสมกับความคิดสร้างสรรค์แบบไม่ธรรมดา พัฒนารูปแบบการสื่อสารและการตลาดจากโจทย์ที่เราได้รับ ให้เกิดการบอกต่อหรือเป็นกระแสให้กับสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยสไตล์การทำงานของเราจะเป็นแบบฉลาดคิด กล้าสร้างสิ่งที่ไม่คาดคิดให้ประหลาดใจและเอาสิ่งที่ขัดแย้งมารวมกันแล้วทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่า

GM Biz Magazine