BACK

การออกแบบด้วยการสื่อความหมาย อย่างสร้างสรรค์

บริษัท จาร์เค็น จำกัด บริษัทออกแบบตกแต่งภายในและสถาปัตยกรรมซึ่งรองรับกลุ่มลูกค้า ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่งานโรงแรม, ร้านอาหาร, สำนักงาน, ร้านค้า และโครงการที่อยู่อาศัยระดับบน ซึ่งมีผลงานคุณภาพที่ได้การยอมรับในระดับนานาชาติเรื่อยมา และวันนี้ TALK TO TALK ได้มีโอกาสร่วมแบ่งปันกับคุณชลธิษฐ์ ถนัดศิลปกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรม ของ จาร์เค็น ถึงแนวคิดการทำงานและเรื่องราวของจาร์เค็นในมุมที่แตกต่างออกไป

หลายคนย่อมมีความฝันในวัยเด็กที่โตขึ้นมาอยากจะเป็นอะไร จุดเริ่มต้นของนักออกแบบแต่ละคนแตกต่างกัน คุณชลธิษฐ์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความฝันและได้เริ่มต้นเดินทางในสายวิชาชีพสถาปนิกอย่างที่ตนเองต้องการจริงๆ ด้วยความฝันในวัยเด็กที่เคยฝันอยากเป็นคุณหมอตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเข้าสู่มัธยมปลายจึงได้เริ่มถามตัวเองอย่างจริงจังเมื่อต้องเลือกคณะเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ว่าตัวเองมีความสนใจหรือชอบทางด้านไหนกันแน่ และเมื่อได้พบคำตอบจึงได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแนวจากการสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์มาสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แทน โดยได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เริ่มต้นทำงานในสายวิชาชีพสถาปัตยกรรมตั้งแต่เรียนจบมาโดยตลอด การทำงานของ คุณชลธิษฐ์เริ่มต้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานหลากหลายด้าน ทั้งการออกแบบอาคาร ตึก คอนโดมิเนียม บ้านพักอาศัย รวมไปถึงงานด้าน Developer ปัจจุบันคุณชลธิษฐ์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบสถาปัตยกรรม บริษัท จาร์เค็น จำกัด โดยแนวการทำงานของคุณชลธิษฐ์ คือการสร้างผลงานที่ดีจะต้องตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยให้มากที่สุด ถ้าสถาปนิกเข้าใจลูกค้าได้อย่างถ่องแท้ก็จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ เพราะบ้านหรืออาคารจะอยู่กับเราไปอีกนาน

มุมมอง แนวทางและวิสัยทัศน์ในการทำงาน คุณชลธิษฐ์ได้นำแนวคิด และมุมมองต่างๆที่ผ่านมาปรับใช้กับการทำงานเป็นการเปิดมุมมองที่กว้างขึ้น ให้กับงานออกแบบในหลายด้านอีกด้วย “จากการทำงาน ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ผมนำมาประยุกต์ใช้คือ เรื่องของการบริหารจัดการ ทั้งงานบริหารโครงการและบริหารบุคลากร ซึ่งผมได้มีโอกาสนำมาปรับใช้ในการร่วมสร้างทีมออกแบบของบริษัทจาร์เค็นด้วย โดยแนวคิดในการทำงานที่ผมได้บอกน้องๆ ในทีมเสมอว่าทุกคนย่อมมีความเชื่อมั่น ในความคิดของตัวเอง มีแนวคิดที่เป็นของตัวเองค่อนข้างสูงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลาที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม เราต้องรู้จักปรับทัศนคติเข้าหากัน เพราะเราต้องสร้างผลงานที่ดีให้แก่ลูกค้า ดังนั้นเราต้องมองไปที่ผลลัพธ์สุดท้ายของงาน คือ ต้องเน้นให้ผลงานนั้นออกมาดีที่สุด อีกทั้งผมมีทัศนคติส่วนตัวที่ไม่ชอบการทำงานในแบบตัวใครตัวมัน แต่ควรทำงานเป็นทีมเวิร์ก ถึงแม้ไม่ใช่หน้าที่แต่หากมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้ผลลัพธ์นั้นออกมาดี เราแค่สละเวลาเพียงเล็กน้อยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากจะทำให้ผลงานนั้นออกมาดีก็คุ้มค่า ซึ่งผมพยายามปลูกฝังแนวคิดเชิงบวกและทัศนคติที่ดีเข้าไปในทีมด้วย

ทุกคนย่อมมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีแนวคิดที่เป็นของตัวเองค่อนข้างสูงกันทั้งนั้น แต่เวลาที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม เราต้องรู้จักปรับทัศนคติเข้าหากันเพราะเราต้องสร้างผลงานที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ดังนั้นเราต้องมองไปที่ผลลัพธ์สุดท้ายของงาน

ส่วนแนวคิดเรื่องการออกแบบผมไม่ได้เน้นไปที่แนวคิดของตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ... ฟัง… ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ การมองสิ่งรอบตัว โดยไม่ยึดติดเอาความคิดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล จะทำให้เรารู้จักฟังคนอื่นและนำความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ซึ่งถือเป็นโจทย์อันดับแรก เพราะหน้าที่เราคือนำความต้องการนั้นมาผสมผสานในการออกแบบให้ถูกที่ถูกทาง ใส่ลูกเล่นของการออกแบบเข้าไป ให้คำแนะนำในส่วนที่ควรจะเป็นกับลูกค้า ส่วนสไตล์การออกแบบของจาร์เค็นนั้นไม่ได้มีการบ่งชี้ที่ชัดเจนด้านใดด้านหนึ่ง เราจะผสมผสานในแต่ละแนวเข้าด้วยกัน โดยมีแนวทางของสไตล์ เช่น โมเดิร์น หรือ ทรอปิคอล เป็นแกนหลัก แล้วจึงนำเอาองค์ประกอบอื่นไม่ว่าจะเป็น กระแสแฟชั่น หรือจับความนิยมของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ มารวมกับสไตล์หลักในการออกแบบให้มีกลิ่นอาย มีจุดเด่นลูกเล่นที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่า หากเปรียบให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นก็คงเหมือนกับอาหารฟิวชั่น ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมการปรุงอาหารและการจัดวางตกแต่งที่สวยงาม แต่ยังคงรสชาติและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่ต้องการสื่อถึง ”

ความประทับใจในผลงานการออกแบบ คุณชลธิษฐ์ได้กล่าวถึงความประทับใจของผมส่วนใหญ่มาจากผลงาน เป็นความภาคภูมิใจที่ได้นำเสนองานที่ดีให้กับลูกค้าแต่ละคน เพราะงานแต่ละงานจะมีการสอดแทรกความหมายอยู่ภายในทั้งสิ้น เพื่อตอบสนองความต้องการให้กับผู้อยู่อาศัย ซึ่งการสื่อความหมาย บางครั้งก็ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตาเปล่า บางครั้งก็ต้องอธิบายถึงจะเข้าใจ ในทุกโครงการผมจะพยายาม ตีโจทย์ของงาน และสื่อความหมายซ่อนลงไปในผลงานการออกแบบเสมอ

ผลงานของจาร์เค็นส่วนใหญ่จะเป็นงานบ้านพักอาศัยขนาดใหญ่ กลุ่มลูกค้าอยู่ในระดับบน เจ้าของบ้านจะรู้สึกภูมิใจที่จะใส่ความเป็นตัวตนของเขาไว้ในบ้าน ยกตัวอย่างเจ้าของบ้านท่านหนึ่ง ลูกค้าได้ให้ฟังเล่าถึงความชอบในนาฬิกาและได้สะสมเก็บเอาไว้หลายเรือน ในระหว่างที่เล่าท่านดูมีความสุขมาก ผมเลยนำความชอบตรงนี้มาใส่ในการออกแบบ โดยการนำตำแหน่งเข็มสั้น-เข็มยาวมาใช้ในการวางผัง รวมถึงการนำรูปทรงของนาฬิกามาใช้ในการออกแบบเป็นองค์ประกอบของช่องเปิด เพื่อเล่นกับแสงและเงาให้ทาบไปบนผนังของบ้านเพื่อบ่งบอกเวลาคล้ายกับนาฬิกาแดด ซึ่งเจ้าของบ้านที่เป็นผู้ใช้สอยในแต่ละวันจะรับรู้และสื่อถึงความหมายนั้นได้ด้วยตัวเอง หรือในบ้านอีกหลังหนึ่งที่เจ้าของบ้านเป็นนักธุรกิจทำจิวเวลลี่ และได้ให้เราออกแบบบ้านพักสำหรับรับรองแขกพิเศษที่จะมาติดต่อธุรกิจร่วมกัน โดยในช่วงเวลาเย็นย่ำค่ำบ้านหลังนี้ต้องต้อนรับแขกจำนวนหนึ่งอยู่เสมอ ในการออกแบบผมจึงทำทางเดินแยกต่างหากจากประตูหน้าไปยังห้องรับรองแขก โดยให้เดินผ่านน้ำและเล่น Lighting ให้ส่องกระทบกับน้ำ ทำให้เกิดเป็นแสงระยิบระยับตกกระทบไปยังผนังคล้ายกับแสงระยิบระยับของกะรัตเพชร ซึ่งผลลัพธ์นี้เป็นที่ถูกใจและมีความหมายกับเจ้าของบ้านมาก และมักจะเล่าให้แขกผู้มาเยือนฟังอย่างภูมิใจเสมอ”

การสื่อความหมาย บางครั้งก็ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตาเปล่า บางครั้งก็ต้องอธิบายถึงจะเข้าใจ....ในทุกโครงการผมจะพยายาม ตีโจทย์ของงาน และสื่อความหมายซ่อนลงไปในผลงานการออกแบบเสมอ

อุปสรรคของการประกอบวิชาชีพสถาปนิก อย่างที่ทราบกันดีว่าโครงการออกแบบบ้านพักอาศัยเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนมาก จะเรียกว่างานปราบเซียนก็ว่าได้ ซึ่งคุณชลธิษฐ์เองได้มีประสบการณ์ในการออกแบบบ้านมาแล้วมากมายหลายหลัง ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “บ้านบางหลังของจาร์เค็นเมื่อเทียบกับอาคารขนาดใหญ่กว่า 20,000 ตารางเมตรแล้ว กลับใช้เวลาในการก่อสร้างพอๆ กัน นั่นเพราะบ้านมีการให้รายละเอียดที่มากกว่า มีการปรับเปลี่ยนระหว่างการทำงานก่อสร้างมากกว่าด้วย ดังนั้นในการทำงานผมจะบอกน้องๆ ทีมงานอยู่เสมอว่า เราต้องคิดถึงใจเขาใจเราให้มาก ถึงแม้การปรับแบบครั้งหนึ่งต้องกระทบกับหลายฝ่าย แต่บ้านก็เป็นที่อยู่อาศัยที่ลูกค้าต้องอาศัยอยู่ไปเป็นเวลานาน ต้องให้ถูกใจคนที่อยู่ให้มากที่สุด ซึ่งในการทำงานออกแบบบ้านอาจมีการเปลี่ยนแปลงกันจนวินาทีสุดท้ายเกิดขึ้น เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นอุปสรรค แต่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติของการทำงานมากกว่า ในการทำงานออกแบบโครงการหนึ่งผมขอให้คนสองคนพอใจก็พอ คือ เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ ดังนั้นสิ่งที่พบนี้ผมมองว่าไม่ใช่อุปสรรค แต่สิ่งที่เราต้องรับมือกลับคือความคาดหวังของลูกค้าต่างหาก ลูกค้าจะมีความคาดหวังต่อผลงานที่ดี ตามความต้องการและตามราคาที่เขาได้จ่ายออกไปอย่างสูง ดังนั้นผลงานการออกแบบที่ออกมาจึงต้องเป็นผลงานที่ดีและตอบโจทย์ตามความต้องการ ทั้งในแง่ของการออกแบบและคุณภาพของงานก่อสร้างด้วย”

การสร้างแรงบันดาลใจ ในการทำงานที่ต้องสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ แรงบันดาลใจเป็นสิ่งจำเป็นที่นักออกแบบต้องค้นหาอยู่เสมอ ซึ่งคุณชลธิษฐ์เองก็มีแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจของตัวเอง “แรงบันดาลใจสำหรับผมนั้นเกิดขึ้นได้รอบตัว เราสามารถนำสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็น ได้สัมผัส มาเป็นแนวคิดในการออกแบบได้ โดยส่วนใหญ่นักออกแบบมักจะมีแนวความคิดในหัวอยู่เสมอ ช่างคิดช่างสังเกต เราสามารถสร้างแนวคิดในการออกแบบได้ตลอดเวลาเพราะกระบวนการคิดมักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม แต่การลงมือปฏิบัติที่ต้องใช้สมาธิและต้องการเวลาในการผลิตผลงานนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานแล้ว การสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมต้องดูแล ในการแบ่งงานกันในทีม ผมจะแบ่งงานให้เหมาะสมกับแต่ละคน เพื่อที่แต่ละคนในทีมจะรับผิดชอบและบริหารเวลาของตนเองได้ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในระหว่างการทำงานออกแบบ ภายในทีมก็จะมีการรีวิวงานกันอยู่ตลอด เพราะการพูดคุยและวางแนวทางในการออกแบบร่วมกัน ปรับปรุงแก้ไขแบบโดยการนำประสบการณ์มาแชร์ร่วมกัน นอกจากจะเป็นการทำงานที่เป็นทีมเวิร์คและยังเป็นกำลังใจในการทำงานร่วมกันในทีมอีกด้วย”

แนวโน้มสถาปนิกไทยกับโอกาสในการยอมรับระดับนานาชาติ จาร์เค็นเป็นบริษัทออกแบบอีกแห่งหนึ่งที่มีความพร้อมและฝากผลงานจนเป็นที่ยอมรับในวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคุณชลธิษฐ์ได้แสดงมุมมองถึงแนวโน้มของสถาปนิกไทยไว้ว่า “ปัจจุบันวิชาชีพสถาปนิกในไทยได้มีการยกระดับดีขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา เจ้าของโครงการส่วนใหญ่มีความเข้าใจในวิชาชีพและการให้บริการ มองเห็นคุณค่าในวิชาชีพนี้ขึ้นมาก แต่หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศก็อาจเทียบกันไม่ได้ คนที่จะอยู่ในแวดวงสถาปนิกนั้นส่วนใหญ่ต้องมีใจรักในงานจริง สถาปนิกรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาในวงการวิชาชีพนี้ควรมีความรักในวิชาชีพและมีความอดทนด้วย อีกทั้งควรมีความตั้งใจมุ่งมั่นในงานที่ทำ ผมเชื่อว่าหากเรามุ่งมั่นที่จะผลิตผลงานที่ดีก็จะทำให้เรามีโอกาสเติบโตในวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากความชอบและความรักในวิชาชีพแล้ว ผมว่าเราควรเข้าใจในวิถีของวิชาชีพที่เราทำอยู่ เพราะถ้าเราเข้าใจในสิ่งรอบตัวและรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีความมุ่งหมายเพื่ออะไร ก็จะส่งผลให้ตั้งใจทุ่มเทสร้างผลงานนั้นให้ออกมาดีที่สุด

ส่วนในเรื่องของการเปิดโอกาสเพื่อการยอมรับในวงกว้างนั้น ทางจาร์เค็นเองก็มีการวัดความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการส่งผลงานการออกแบบเข้าประกวดในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาแนวทางการออกแบบให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยล่าสุดได้รับรางวัล Best Property Single Unit จากงาน The Asia Pacific Property Awards 2014-2015 กับโครงการ เขาใหญ่ เรสซิเดนท์ (KhaoYai Residence) ซึ่งเป็นโครงการบ้านพักตากอากาศภายใต้คอนเซ็ปต์ของเมืองลับแล ผสมผสานกับความเชื่อทางศาสตร์ฮวงจุ้ย ที่มีพื้นที่สีเขียวอันร่มรื่นและวิวแบบ Panorama ของภูเขาโอบล้อม โดยมีความพิเศษของการเลือกใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสใกล้เคียงกับธรรมชาติ ตลอดจนการคำนึงถึงเรื่องระบบเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งรางวัลนี้ถือได้ว่าเป็นเวทีระดับนานาชาติด้านการออกแบบอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงถือเป็นความภูมิใจของทางผู้ออกแบบอย่างมากเช่นกัน

และหากถามถึงมุมมองของผมแล้ว ผมคิดว่าในส่วนของการแสดงแนวคิดในการออกแบบของสถาปนิกไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่การที่คิดออกแบบมาแล้วจะมีโอกาสที่ได้สร้างจริงนั้นมีมากน้อยแค่ไหน บางโครงการชนะประกวดมีแนวคิดในการออกแบบที่ดีมาก แต่พอเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างที่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงหรือข้อจำกัดทางบริบท จึงทำให้ราคาค่าก่อสร้างโครงการนั้นสูงเกินไป แบบที่ชนะประกวดนั้นก็จะอยู่แค่บนกระดาษเท่านั้น ไม่ได้ถูกนำมาก่อสร้างจริง แต่อย่างน้อยในอนาคตหากมีการพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีการก่อสร้างให้สูงขึ้น คุณภาพการก่อสร้างได้มาตรฐานที่ดี วงการนี้ก็อาจก้าวไปสู่ระดับนานาชาติได้ไกลมากกว่านี้”

Builder Magazine