BACK

Architectural Therapy Me style

ในปัจจุบันการใช้ชีวิตของคนไทยมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น (Urbanization) ผู้บริโภคมีไลฟ์ไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์และวัฒนธรรมตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อร่างกาย และเกิดภาวะความเครียดและความกดดันจากการทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ และเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบกับประชากรโลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุอย่างเต็มขั้น ด้วยสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่ถดถอยทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บ และโรคเรื้อรังได้ง่าย จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ และต้องการการดูแลจากบุตรหลาน หรือญาติพี่น้อง

โครงการสถาปัตย์บำบัด (Architectural Therapy) จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สถาปนิก และนักออกแบบภายในจาก บริษัท จาร์เค็น จำกัด ร่วมกับทีมแพทย์และพยาบาลจาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในรูปแบบพหุสาขาวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมควบคู่กับการแพทย์ ในการฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยระยะพักฟื้นที่อาศัยอยู่ที่บ้าน หรือโรงพยาบาลให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด รวมถึงการลดภาระให้กับผู้ดูแลอีกด้วย

1. Conceptการออกแบบแต่ละโครงการ

1.1 โครงการปรับปรุงบ้านพักอาศัยกรณีผู้ป่วยโรคเส้นประสาท เนื่องจาก ผู้ป่วยรายนี้ประสบอุบัติเหตุมา ทำให้ร่างกายช่วงล่างไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีอาการอ่อนแรง และเกร็ง แต่ร่างกายช่วงบนยังคงใช้งานได้ และมีกำลังค่อนข้างดี แต่เนื่องด้วยผู้ป่วยมีรูปร่างค่อนข้างใหญ่ เวลาจะเคลื่อนย้ายร่างกายต้องใช้คนหลายคนมาช่วย ซึ่งค่อนข้างลำบาก ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่แต่ในห้องแทบทั้งวัน ไม่ได้ออกไปไหน

- สภาพปัจจุบัน : ผู้ป่วยชอบนั่งกับพื้นซึ่งเป็นพื้นปูนที่ค่อนข้างแข็ง เพราะบอกว่านั่งกับพื้นแล้วเย็นทำให้เกิดเป็นแผลกดทับติดเชื้อที่บริเวณบั้นท้าย

- แนวทางการปรับปรุง : พยายามให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่บนเตียงลม เพื่อช่วยเรื่องลดปัญหาแผลกดทับ โดย จัดวางให้อยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสม และติดตั้งพัดลมในตำแหน่งที่ให้ความเย็นกับผู้ป่วยได้เต็มที่ ตลอดจนการจัดวางเฟอร์นิเจอร์รอบๆ ให้เป็นสัดส่วน และสามารถที่จะหยิบใช้งานได้สะดวก โดยเฉพาะสิ่งของที่จะตอบสนองกิจกรรมที่ผู้ป่วยชื่นชอบ เช่น ตำแหน่งของโทรทัศน์ วิทยุ หรือชั้นวางหนังสือ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมหลายๆ อย่างได้ด้วยตัวเองเมื่ออยู่บนเตียง โดยที่ไม่ต้องเคลื่อนที่ไปจากเตียง

- สภาพปัจจุบัน : พื้นที่ห้องเป็นส่วนต่อเติมด้านหลังอาคารพาณิชย์ที่ทำขึ้นอย่างเร่งรีบ และไม่ค่อย เหมาะสม พบว่าอากาศภายในค่อนข้างอบอ้าว มีกลิ่นเหม็นอับ เนื่องจาก ไม่มีหน้าต่างในห้องเลย จึงทำให้ขาดการระบายอากาศที่ดี มีเพียงหลังคากระเบื้องโปร่งแสงที่สามารถให้ผู้ดูแลมาชักรอกเลื่อนเปิด-ปิดได้ แต่ก็จะเปิดไว้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น ส่วนเวลากลางคืนก็จะต้องปิดไว้เนื่องจากกลัวฝนตกแล้วจะไม่มีใครมาปิดให้ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยตัวเอง

- แนวทางการปรับปรุง : ออกแบบหลังคาระบายอากาศใหม่ ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และผู้ป่วยสามารถที่จะ เป็นคนชักรอกเลื่อนเปิด-ปิดเองได้จากเตียงที่ผู้ป่วยนั่งหรือนอนอยู่รวมถึงทำหลังคาคลุมช่องนี้อีกชั้นเพื่อกันฝน และติดมุ้งลวดเพิ่มเพื่อกันยุงทำให้ช่องหลังคาระบายอากาศนี้สามารถเปิดไว้ได้ตลอดเวลา

- สภาพปัจจุบัน : ภายในห้องมีความชื้นตลอดเวลา รวมถึงกลิ่นเหม็นจากท่อระบายน้ำ ซึ่งเกิดจากการที่บริเวณส่วนอาบน้ำไม่ได้แยกส่วนเปียก-ส่วนแห้งไว้อย่างเหมาะสมทำให้พื้นที่ที่ใช้อยู่อาศัยเปียกและชื้นเป็นวงกว้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น

-แนวทางการปรับปรุง : ออกแบบพื้นที่อาบน้ำใหม่ให้มีการกำหนดขอบเขตส่วนเปียก-ส่วนแห้งให้ชัดเจน มากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาในเรื่องของน้ำไหลนองมายังบริเวณใกล้เคียง และความชื้น รวมถึงการจัดวางอุปกรณ์ในห้องน้ำให้อยู่ในตำแหน่งและระดับความสูงที่เหมาะสม ส่วนเรื่องกลิ่นจากท่อนั้นก็ใช้ซิลิโคนยิงรอยต่อของฝาท่อระบายน้ำ เพื่อช่วยลดเรื่องกลิ่นเหม็นที่ขึ้นมาจากท่อ

- สภาพปัจจุบัน : แสงสว่างภายในค่อนข้างมืดสลัว เนื่องจาก ช่องแสงน้อย และสีของผนังและพื้น ยังเป็นสีปูนซึ่งค่อนข้างเข้ม อันมีผลต่อสภาวะจิตใจที่จะก่อให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย

- แนวทางการปรับปรุง : นอกจากเพิ่มขนาดช่องแสงหลังคาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังต้องทำการ ทาสีผนังใหม่โดยเลือกสีที่ผู้ป่วยชื่นชอบเป็นพิเศษ และติดตั้งดวงโคมเพิ่มเติมเพื่อให้มีแสงสว่างที่เหมาะสม

1.2 โครงการปรับปรุงบ้านพักอาศัยกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับกรณีนี้ สภาพของผู้ป่วยตอนที่ไปพบครั้งแรกนั้น จะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย หรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย รวมถึงความทรงจำในอดีตของผู้ป่วยที่จะขาดหายไปในบางช่วง ซึ่งกรณีนี้ไม่เพียงแค่จะต้องฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ แต่ยังต้องเรียกความทรงจำที่ขาดหายไปในบางช่วงกลับคืนมา

- สภาพปัจจุบัน : ห้องพักของผู้ป่วยอยู่ตำแหน่งกลางบ้าน ชั้น 2 ของอาคารพาณิชย์ ถูกกั้นด้วย ผนังกระจกและอลูมิเนียมอย่างง่ายๆ ไม่มีหน้าต่างที่ติดกับภายนอกเมื่อเข้าไปครั้งแรกรู้สึกถึงความอึดอัด เนื่องจาก ขนาดห้องที่ไม่ใหญ่ มีเฟอร์นิเจอร์วางอยู่ค่อนข้างแน่น

- แนวทางการปรับปรุง : เนื่องจากทางญาติมีแผนจะย้ายผู้ป่วยไปยังบ้านอีกหลังซึ่งเป็นลักษณะบ้านเดี่ยว โดยจะต่อเติมเป็นห้องขึ้นมาโดยเฉพาะจึงได้ให้คำแนะนำในเรื่องตำแหน่ง และขนาดของห้องที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดทางโครงสร้างและพื้นที่ที่มีอยู่ โดยห้องใหม่นี้อยากให้เป็นห้องที่โปร่งโล่ง ดังนั้น ต้องเห็นธรรมชาติให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันต้องโดนแดดให้น้อยที่สุด

- สภาพปัจจุบัน : จากสภาพพื้นที่ของบ้านเดิม หากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะเป็นไปด้วยความยาก ลำบากมาก ทั้งในเรื่องของการที่อยู่ชั้น 2 และขนาดของเส้นทางการขนย้ายผู้ป่วยที่ค่อนข้างแคบ

- แนวทางการปรับปรุง : จัดวางห้องพักใหม่นี้ให้มีทางเข้าถึงได้จากหลายทาง และมีขนาดใหญ่ เผื่อใน กรณีฉุกเฉินที่จะต้องมีเจ้างหน้าที่หลายคนมาช่วยในการขนย้าย ตลอดจนการวางตำแหน่งของเตียงผู้ป่วยที่อยู่ในตำแหน่งและทิศทางที่สามารถเคลื่อนย้ายเข้า-ออกภายนอกได้สะดวกที่สุด

- สภาพปัจจุบัน : ห้องที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้เต็มไปด้วยตู้และชั้นวางของ เหลือพื้นที่สำหรับ วางเตียงนอนของคนดูแลที่จะต้องนอนเฝ้าผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดูคับแคบมาก ซึ่งคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

- แนวทางการปรับปรุง : จัดเตรียมพื้นที่พักผ่อนสำหรับคนดูแลให้มีขนาดเหมาะสม โดยทำให้เป็นลักษณะ เตียงที่พับได้ เมื่อไม่ใช้ก็สามารถพับเก็บไม่เกะกะพื้นที่ ส่วนเรื่องตู้เก็บของต่างๆ ก็จัดวางไว้ให้เป็นระเบียบและอยู่ในตำแหน่งที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก

- สภาพปัจจุบัน : จากปัญหาทางด้านความทรงจำที่ขาดหายไปในบางช่วงนั้น หากเพียงแต่เน้นรักษาอาการทางร่างกาย ก็คงไม่อาจเรียกความทรงจำนั้นกลับมา

- แนวทางการปรับปรุง : ทราบจากญาติว่าตอนที่ผู้ป่วยมีร่างกายปกติดีนั้น ชอบดูข่าวพระราชสำนัก และ ชอบปลูกต้นเฟื่องฟ้าจึงได้กำหนดให้มีโทรทัศน์ในตำแหน่งที่ผู้ป่วยมองเห็นได้สะดวก และตั้งเวลาเปิดไว้ในช่วงที่มีข่าวพระราชสำนัก ตลอดจนนำกระถางเฟื่องฟ้ามาห้อยกับชายคาภายนอกบ้านในตำแหน่งที่ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน รวมถึงการจัดวางเตียงผู้ป่วยให้สามารถมองเห็นกิจกรรมของลูกๆ หลานๆ ภายในบ้านได้จากในห้องพักที่ผู้ป่วยอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้ไม่ช่วยให้เกิดเห็นผลในทันที แต่จากการทดลองกับผู้ป่วยท่านนี้ในบางเรื่อง เช่น การเปิดข่าวให้ดู ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีพัฒนาการด้านการตอบสนองที่ดีขึ้น

2. การเลือกใช้ material ในการทำเเต่ละโครงการ

2.1 กรณีผู้ป่วยโรคเส้นประสาท การเลือกใช้วัสดุไม่เพียงคำนึงถึงการใช้งานของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการดำเนินชีวิตของคนอื่นๆ ภายในบ้านด้วย เนื่องด้วยสภาพบ้านพักอาศัยเป็นอาคารพาณิชย์ที่ประกอบการค้าขาย ทำให้การปรับปรุงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาที่น้อยที่สุดดังนั้น วัสดุที่นำมาใช้จะต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ง่าย ใช้พื้นที่ในการเตรียมงานไม่มาก เกิดฝุ่น และเสียงดังให้น้อยที่สุด เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันที่ต้องขายของ มีที่กองของจำนวนมาก และมีคนเข้าคนออกตลอดเวลา

2.2 กรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจาก ในระยะแรกผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายเองได้ ดังนั้น การเลือกใช้วัสุดจึงเน้นไปที่เรื่องของการกระตุ้นประสาทสัมผัสทางสายตา และความทรงจำมากกว่ารวมถึงเพื่อให้สะดวกและเหมาะสมต่อการใช้งานของผู้ดูแล

3. สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบมีอะไรบ้าง เช่น พฤติกรรมของผู้ใช้ ความต้องการของครอบครัว พื้นที่ งบประมาณ เป็นต้น

- ก่อนการออกแบบและปรับปรุงที่อยู่อาศัย ต้องเริ่มจากอาการของโรค หรืออุบัติเหตุ เพื่อที่จะนำมาปรับให้เหมาะสมและใกล้เคียงกับพฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวัน และกิจกกรมที่ชอบทำของผู้ป่วยและผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่งออกแบบใหม่ หรือการปรับปรุงบ้านนั้น สามารถทำมากทำน้อยได้ ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละครอบครัว เช่นโดยทีมผู้ออกแบบและทีมแพทย์ พยาบาลจะดูจากส่วนที่สำคัญที่สุดก่อน ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงนั้นมีถึง 14 ข้อ ได้แก่

1. ความสว่าง 2. วัสดุพื้น 3. วัสดุผนัง 4. วัสดุฝ้าเพดาน 5. ระดับความสูงและขนาดเฟอร์นิเจอร์ 6. ตำแหน่งการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ 7. ประตู 8. หน้าต่าง 9. ขั้น(step) 10. การระบายอากาศ, กลิ่นอับ และความชื้น 11. อุปกรณ์ช่วยเหลือ 12. เสียงในสภาพแวดล้อมข้างเคียง 13. พื้นที่ภายนอก 14. ระบบไฟฟ้า ปลั๊กและสวิตซ์

4. สิ่งที่คาดว่าผู้ป่วยจะได้รับจากการออกแบบ ในการปรับพื้นที่ที่อยู่อาศัย

• ผู้ป่วยและผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นมีความสุขมากขึ้น และลดภาระของผู้ดูแล • ผู้ป่วยและผู้สูงอายุสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางกายและจิตใจได้เองจากการฟื้นฟูและการใช้ชีวิตปรกติในชีวิตประจำวัน • ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และผลกระทบที่ก่อให้อาการกำเริบ • ผู้ป่วยและญาติเข้าใจว่าการออกแบบ หรือการปรับพื้นที่ที่อยู่อาศัยมีความสำคัญ ทำได้ไม่ยาก

5.รายละเอียดข้อมูลของเจ้าของโครงการ

ข้อมูลผู้ป่วยโรคเส้นประสาท ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 35 ประสบอุบัติเหตุ รถชน เมื่อ 6 ปีก่อน ปัจจุบันขาช่วงล่างใช้งานไม่ได้ (อัมพฤกษ์) และมีแผลกดทับที่ก้น เนื่องจากนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน สามารถเคลื่อนไหวได้ช่วงด้านบนของลำตัว โดยช่วงแขนยังแข็งแรงใช้งานได้ค่อนข้างดี ผู้ป่วยมีท่อต่อระบบขับถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะภายนอกร่างกาย ซึ่งอยู่อาศัยห้องที่ต่อเติมหลังบ้านของตึกแถวที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และมีความชื้น-กลิ่นอับเนื่องจากมีส่วนสำหรับอาบน้ำรวมอยู่ด้วย

ข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 78 ปี เข้ารับการผ่าตัดสมองเมื่อประมาณปี 2556 และได้กลับมาพักฟื้นที่บ้านของลูกสาวที่มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ โดยได้กั้นห้องชั่วคราวอยู่ที่ชั้น 2 แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของอาคารเดิมทำให้ห้องนี้ค่อนข้างอึดอัด เนื่องจากไม่มีหน้าต่าง สภาพร่างกายของผู้ป่วยเมื่อกลับจากโรงพยาบาลในช่วงปีแรกจะเป็นลักษณะที่นอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และระหว่างที่พักรักษาตัว ก็จะต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นระยะ ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะค่อนข้างยากลำบาก และต้องใช้คนช่วยหลายคน แต่ในอนาคตมีแผนจะย้ายผู้ป่วยกลับไปที่บ้านของลูกชายซึ่งเป็นบ้านเดี่ยว และเป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยเคยอาศัยอยู่ตอนที่ร่างกายยังแข็งแรง โดยจะต่อเติมเป็นห้องนอนไว้ให้กับผู้ป่วยโดยเฉพาะที่ชั้นล่าง

home and living