BACK

DESIGN WITH PASSION

ศศิวิมล สินธวณรงค์“คุณแจน” Design Principal of JARKEN

จุดเริ่มต้นของบริษัทกลุ่มJARKENมีที่มาที่ไปอย่างไร : จุดเริ่มต้นก็คือเริ่มแรกเราเป็นบริษัทออกแบบตกแต่งภายในก่อน เรารับงานออกแบบตั้งแต่งาน architectureงาน interior หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีลูกค้าที่จ้างเราทำงานออกแบบที่ไว้ใจและชอบการทำงานที่เป็นแบบของเรา ซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสทำในส่วนของงานรับเหมาก่อสร้างที่เราออกแบบเองด้วย ทำให้เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทJK Buildersซึ่งทำงานในด้านรับเหมาก่อสร้างได้รับงานที่มีระดับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ร่วมทั้งมีงานที่เป็น commercial เพิ่มขึ้นจากตอนแรกหลังจากนั้นก็เริ่มมีบริษัทออกแบบpyeเป็น Brand Designที่รองรับกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่ความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความแตกต่างกันก็คือ JARKENจะรับงานขนาดใหญ่กว่า ส่วน pyeจะรับงานขนาดเล็กกว่า แล้วก็เรื่องวิธีการทำงาน ซึ่งงานของ pyeจะจบเร็วกว่า และตอนนี้ก็เปิดบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของ branding ชื่อบริษัท TigerLily เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งบริษัท ทำให้ JARKEN เป็นบริษัทที่สามารถตอบโจทย์งาน Design ได้ครอบคลุมทุกด้าน

แล้วทำไมตอนแรกถึงเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทตกแต่งภายในก่อน : เพราะเราเองจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทำงานตรงตามสายที่เรียนมาเลย ตอนเรียนจบก็ไปหาประสบการณ์ ทำงานบริษัทออกแบบ มาสองปีจึงมาเปิดบริษัทของตัวเอง

ทำไมตอนนั้นถึงอยากมาเปิดบริษัทของตัวเอง : ตอนนั้นรู้สึกว่าเราทำงานมาสักพัก แล้วก็ค่อนข้างมีประสบการณ์เยอะขึ้น งานที่รับผิดชอบเราก็รับผิดชอบเองคนเดียว ระหว่างนั้นก็มีญาติๆ ที่จะสร้างนู้นสร้างนี่ ทำให้เรามีงานส่วนตัวค่อนข้างเยอะ ก็เลยคิดว่าออกมาทำเองเลยดีกว่า

ช่วงแรกที่เริ่มเปิดบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง : ช่วงแรกๆ ก็โอเคบริษัทของเราก็มีทีมงานประมาณสิบคน ก็มีน้องที่มาช่วยงานIn House บ้าง Out Source บ้าง แล้วก็เปิดบริษัท JARKEN เพื่อสร้างสรรค์งาน Design ในแบบของเราแต่ยังเติมเต็มความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าจดจำเราได้ตลอดมา

แล้วหลังจากนั้นนานแค่ไหนถึงเริ่มมีการแตกธุรกิจเพิ่มขึ้นมา : หลังจากเปิด JARKENขึ้นมาก็ประมาณสองปีเราถึงเริ่มเปิด JK Bulidersหลังจากนั้นอีกสักประมาณห้าปีเราก็เปิด pyeถัดจากนั้นอีกหนึ่งปีเราก็เปิด TigerLilyเพราะเรามองว่าลูกค้าที่เดินมาหาเรา บางทีเขามีธุรกิจอยู่แล้ว ก็อยากจะได้งานที่จบที่บริษัทเดียว เราก็ช่วยคิดให้อยู่แล้วว่าแนวคิดของบริษัทคุณควรจะเป็นประมาณไหน เหมือนกับว่ามองดีไซน์ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกราฟฟิก การทำแบรนด์ มองเข้าไปถึงการตกแต่งภายในว่าควรเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เราจะคิดไปพร้อมกันหมด ล่าสุดเราพึ่งไปลงนาม MOUกับทางสิงค์โปรมา ซึ่งเราจะทำบริษัทอีกแขนงหนึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่จะเป็นการนำเอา design thinking เข้ามาแก้ปัญหาองค์กรต่างๆ หรือบริษัทต่างๆ ซึ่งยังไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน

Design thinking ต่อไปจะเข้ามามีความสำคัญในการทำธุรกิจหรือการออกแบบอย่างไร : จะเป็นวิธีการคิดที่จะช่วยในเรื่องการปรับองค์กรหรือวิธีการทำงานในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝ่ายบุคคล เรื่องการเงิน หรือเรื่องอื่นๆ โดยการใช้ศาสตร์แขนงใหม่ในเรื่องของ Design thinking ในการเข้าไปศึกษาข้อมูลให้เห็นถึงปัญหาก่อนว่าปัญหาขององค์กรนั้นๆ คืออะไร แล้วก็มาวิเคราะห์ข้อมูลและใช้เครื่องมือในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาในด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์หรืออะไร แต่เป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างขององค์กรด้วยการนำความคิดแบบดีไซน์เนอร์มาใช้ในกระบวนการคิด

ยกตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาของ Design thinkingให้เราฟังได้ไหม : อย่างเรื่องของสภาพแวดล้อม ก่อนหน้านี้ก็มีอาจารย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเขาถามเหมือนกันว่า ในเมืองไทยมีบริษัทไหนที่เขาดูแลรับปรึกษาในเรื่องการออกแบบ หรือการจัดระบบวิธีการทำงานต่างๆ ที่จะทำให้งานลื่นไหลไหม ซึ่งก็ไม่มี เราจึงมองแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ว่าเราจะมองลงไปในข้างในองค์กรของเขาว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และคุณอยากที่จะทำอะไร เพราะว่าหลายๆ องค์กรทำธุรกิจไปแล้วก็ลืมไปว่าทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ พอทำไปทำมาแล้วมันมากเกินไป หรือยุ่งยากเกินไป จริงๆ แล้วแก่นของธุรกิจของเราคืออะไรคนมักลืมตรงนั้น ซึ่งเราก็ใช้ Design thinking ในการช่วยออกแบบ การแก้ปัญหาด้วยการออกแบบมันไม่มีอะไรที่ตายตัว เราก็อาจจะแนะนำลูกค้าได้ว่ามีทางออก A B C… และอะไรที่เหมาะสมกับคุณ

อย่างการขยายธุรกิจในบริษัทของคุณมันเกิดจากอะไร : บางอันก็ชัดเจนว่าลูกค้าอยากให้เราทำเลย อย่างงานรับเหมาเราเข้าใจว่าเวลาที่ทำแบบมา แบบมันก็อยู่ในกระดาษ พอลูกค้าเขาซื้อแบบของเราไปก็ไม่มั่นใจว่าผู้รับเหมาจะทำได้ตามแบบนั้นหรือเปล่า การขยายงานแบบนี้ก็ค่อนข้างตรงไปตรงมาว่าเราขยายบริษัทเพื่อรองรับตรงนั้น แต่อีกส่วนเราก็มองว่าเราขยายบริษัทเพราะคิดว่าน่าจะนำเสนอบริการในส่วนที่เรามองเห็นอะไรบ้างอย่างด้วย อย่างการที่เราช่วยตกแต่งภายนอกทุกอย่างสวยงามแล้ว แต่ว่าธุรกิจของเขาก็ไปไม่ถึงที่สุดอย่างที่ควรเป็นอยู่ดี เพราะมันขาดอะไรบางอย่างที่จะเป็นส่วนเติมเต็มให้กับเขา นั่นจึงทำให้เราคิดถึงDesign thinking ที่สามารถนำเข้ามาใช้ เพราะเวลาเราออกแบบงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบองค์กร การออกแบบบ้าน เราไม่ได้คิดแค่ว่าทำให้มันจบ แล้วสวยงาม แต่เรามองไปอีกว่ามันต้องเข้าถึงความเป็นตัวเขาจริงๆ

อย่างนี้ถ้าจะให้นิยามบริษัทของคุณเองเพื่อให้คนเข้าใจสั้นๆ ง่ายๆ จะมีลักษณะอย่างไร : เราคิดว่าเราเป็นบริษัทที่ทำงานเต็มที่ เราไม่หยุดคิดเราคิดตลอดเวลา และเราก็มีสายตาที่กว้างไกลแตกต่างจากบริษัทออกแบบอื่นๆ ในขณะเดียวกันเราก็มี Passionค่อนข้างเยอะ เราสร้างแรงจูงใจให้ตนเองเสมอให้คิดแตกต่าง แล้วก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แล้วบริษัทของเราก็มี Passion ในเรื่องของ Art และ Design อยู่เสมอ

บริษัทและองค์กรของคุณต้องเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คุณมีวิธีการบริหารคนอย่างไร : เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุดเลยสำหรับนักออกแบบ ในการที่ทำให้เขาคิดไปในทิศทางเดียวกันกับเรา จริงๆ เราค่อนข้างจะเปิดให้นักออกแบบทุกคนเป็นตัวของตัวเอง แต่ทำอย่างไรให้เขาคิดได้ลึกถึงรายละเอียด และมีความจริงใจในงานที่ทำตรงนั้นมากกว่าที่เราจะเสริมเขา

อย่างนี้ถ้าจะให้นิยามบริษัทของคุณเองเพื่อให้คนเข้าใจสั้นๆ ง่ายๆ จะมีลักษณะอย่างไร : เราคิดว่าเราเป็นบริษัทที่ทำงานเต็มที่ เราไม่หยุดคิดเราคิดตลอดเวลา และเราก็มีสายตาที่กว้างไกลแตกต่างจากบริษัทออกแบบอื่นๆ ในขณะเดียวกันเราก็มี Passionค่อนข้างเยอะ เราสร้างแรงจูงใจให้ตนเองเสมอให้คิดแตกต่าง แล้วก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แล้วบริษัทของเราก็มี Passion ในเรื่องของ Art และ Design อยู่เสมอ

แล้วอย่างคุณเองถนัดงานออกแบบในสไตล์ไหน : จริงๆ เราไม่เคยมานั่งคิดเลยว่าตัวเองเป็นสไตล์ไหน แต่หลังจากทำงานไปเรื่อยๆ เรื่องของคาแร็คเตอร์ก็คงออกมาเอง ลูกค้าก็จะพูดกันปากต่อปากว่างานของJARKENเป็นแบบModern luxury ในสไตล์ JARKENเอง มันน่าจะเป็นเรื่องของแนวความคิดเวลาที่จะเริ่มออกแบบอะไรบางอย่าง ว่าเรารวมทุกสิ่งอย่างออกมาอย่างไรมากกว่า อย่างเราเองเป็นคนที่ค่อนข้างจะใส่ใจในรายละเอียดของลูกค้ามากๆ คือใส่ใจว่าตัวตนของเขาเป็นอย่างไร เราจะบอกน้องๆ ทีมงานเสมอว่าออกแบบบ้านให้สวยใครๆ ก็ทำได้ แต่สวยอย่างไรให้เป็นบ้านของเขาจริงๆ หรือถ้าเป็นการออกแบบออฟฟิศหรือองค์กร จะทำอย่างไรให้เขาเข้าไปแล้วเป็นสถานที่ของเขาจริงๆ แล้วสถานที่นั้นก็ทำให้องค์กรของพัฒนาไปได้อย่างดี แล้วก็ทำให้คนในนั้นอยู่ได้อย่างมีความสุข

แล้วคุณมีวิธีการทำอย่างไรให้รู้จักตัวตนของลูกค้าได้จริงๆ : เริ่มต้นจากการก็พูดคุย ศึกษาหาข้อมูลลูกค้า อย่างถ้าเป็นลูกค้าที่เป็นองค์กรก็จะมีความชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าและจุดประสงค์ในการตกแต่งออฟฟิศครั้งนี้เป็นอย่างไร เช่น ต้องการความรู้สึกมั่นใจ ต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ หรือว่าเขาต้องการให้พนักงานมาอยู่แล้วรู้สึกมีความสุขมากขึ้น อะไรคือความต้องการจริงๆ อย่างการออกแบบบ้านก็เหมือนกัน เราก็ต้องถามว่าบ้านหลังนี้เป็นอย่างไร ชีวิตของคุณเป็นช่วงเวลาไหน เพราะบางคนมีหลายบ้าน บางคนมีบ้านหลังนี้ตอนที่เพิ่งแต่งงาน เราก็จะมองว่าบ้านคู่แต่งงานใหม่ เขาจะมีไลฟ์ไตล์อย่างนี้นะ ทำอย่างไรที่จะสร้างให้เป็นการเริ่มครอบครัวที่อบอุ่น นี้คือส่วนหนึ่งของแนวความคิดว่าเราจะเอาใจไปใส่ในจิตวิญญาณเขาอย่างไร หรือตอนนั้นอาจจะเป็นช่วงที่เขาอาจมีลูกแล้วสักพัก แต่ว่าลูกกำลังโตนะ เราก็ต้องนึกภาพในแปลนที่กำลังออกแบบ ลองคิดว่าตัวเองเป็นเด็กตัวเล็กๆ แล้วเดินดูสิ มองหันซ้ายหันขวาแล้วจะแตกต่างจากเดิมอย่างไร หรือว่าเราต้องออกแบบคอนโดหลังที่ 4 ของเขาแล้ว เราก็ต้องศึกษาว่าหลัง1 2 3 ของเขาเป็นอย่างไรมาบ้าง และคุณต้องการความแตกต่างอย่างไรบ้าง เขาชอบอะไรอะไรคือสิ่งที่เขาอยู่แล้วจะมีความสุข

สำหรับนักออกแบบสามารถแยกตัวตนของตัวเองกับความต้องการของลูกค้าออกแค่ไหน : เรามองว่าลูกค้าเป็นโจทย์ เหมือนเวลาเราทำโจทย์เลขก็จะมีข้อมูลมาเต็มไปหมดเลย แต่ว่าแนวคิดที่เราจะใส่เข้าไปมันคืออะไร เราคิดว่าการออกแบบมันเป็นวินาทีที่เรากำลังจะขีดเส้น สมองกำลังจะเอาโจทย์มาเขย่าๆ รวมกัน ผสมเข้ากับจินตนาการที่เราคิดเมื่อกี้นี้ ว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้ๆ นะ ผสมกับประสบการณ์ที่เรามีมา ผสมกับรสนิยมที่เป็นสิ่งที่อยู่ภายในของนักออกแบบแต่ละคน เอามาผสมรวมกันถึงจะวาดออกมาเป็นแต่ละห้องๆ ได้ ซึ่งมันก็สนุกตรงที่ทำให้แต่ละที่มีความน่าสนใจ

แล้วเคยมีการทำโจทย์ครั้งไหนที่ผิดครั้งใหญ่ แล้วคุณได้เรียนรู้จากมัน : ในแต่ละงานมีความยากง่ายในตัวมันเอง ซึ่งในบ้างครั้งเราจะคิดว่าถ้าเราทำได้เราน่าจะทำอย่างนี้ดีกว่า แต่ว่ามันก็เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผสมให้เป็นประสบการณ์ทำงานของเรามากกว่า แต่ถึงกับผิดพลาดครั้งใหญ่ก็ไม่เคยมี เพราะระหว่างการทำงานเราก็ต้องให้ลูกค้าอนุมัติแบบก่อนอยู่แล้ว

เคยนับไหมว่าตัวเองทำงานมากี่ชิ้นแล้ว : ไม่เคยนับเลยค่ะ แต่เมื่อประมาณสองปีที่แล้วเคยไปลิสต์งานที่เราเคยทำมาก็เป็นร้อยกว่าชิ้น ตกใจว่านี่เราทำหมดเลยเหรอ แต่ก็เป็นงานที่เราทำร่วมกับทีมงาน มันก็เลยออกมาได้เยอะขนาดนี้

ทราบว่าบริษัทของคุณสนับสนุนให้มีการส่งผลงานเข้าประกวดตามเวทีออกแบบต่างๆการประกวดผลงานนั้นมีความสำคัญอย่างไร : สำคัญมากค่ะ คือในแง่ของนักออกแบบน้องๆ ที่ทำงานด้วยกัน มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ตัวเองอยู่เสมอ เป็นแรงกระตุ้นว่าผลงานของเราต้องดี นอกจากจะเป็นที่ยอมรับในบริษัท ลูกค้ายอมรับ ก็ต้องได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วย ให้ทั่วโลกได้รู้ว่าผลงานของ JARKEN นั้นไม่แพ้ใคร แล้วมันก็มีผลให้คนภายนอกที่มองเข้ามา ว่าบริษัทของเราเติบโตแล้วก็เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการออกแบบ อย่างน้องๆ เองถ้าคนไหนทำงานออกแบบแล้วได้รับรางวัล เราก็จะให้เขาไปรับรางวัลเองด้วย เขาก็จะรู้สึกภูมิใจที่เขาทำงานในบริษัทนี้อย่างเวทีประกวดทุกวันนี้มีเยอะมาก เราก็จะมองว่าเวทีไหนที่เข้ากับชิ้นงานของเราในเวลานั้น อย่างตอนนี้เรามีงาน Commercialเป็นออกแบบออฟฟิศ เราก็คิดว่าโอเคเราส่งอันนี้ได้

ก่อนหน้านี้คุณพูดถึงเรื่องความแตกต่าง สิ่งนี้สำหรับนักออกแบบเป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจมากแค่ไหน : เรื่องของPassion เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้นักออกแบบยังคงสนุกกับอาชีพนี้อยู่ เพราะไม่อย่างนั้นบางคนที่ทำงานได้ไม่กี่ปีก็เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นบ้าง น้องๆ ที่ออฟฟิศของเราไปเป็นแอร์โฮสเตสก็มี ซึ่งเป็นเรื่องปกติเลย ไม่ว่ากี่ปีๆ ก็เจอมา เราจึงมองว่า Passionเป็นสิ่งสำคัญ บางทีทำงานมันก็เหนื่อย ก็ยาก เจอลูกค้าเปลี่ยนแบบ เจอผู้รับเหมาไม่ทำตามแบบ เจอลูกค้าตัดงบ ทุกอย่างมันบั่นทอนกำลังใจของนักออกแบบทั้งหมด เราก็บอกน้องๆ ว่าต้องอดทนและรักษา Passion ยืนหยัดกับสิ่งที่เราทำและเราออกแบบจนเสร็จสมบูรณ์จริงๆ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องมั่นใจกับตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เราให้กับลูกค้าไปนั้นดีจริง และใช่จริงๆ พอสิ่งที่เราออกแบบมันออกมาเป็นรูปร่างเราก็จะมีความสุข และเป็นพลังที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในงานต่อไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้น้องๆ เราก็พยายามทำ ก็บอกกับเขาว่านั่งทำงานอยู่บนโต๊ะในออฟฟิศไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรหรอกนะ เราต้องพาน้องๆไป Design trip ด้วย เดือนละครั้งสองครั้ง

Design tripที่ว่าเป็นอย่างไร : ก็พาไปดูสถานที่สวยๆ ที่ไหนเสร็จก็พาไป ร้านอาหารที่ไหนเก๋ๆ ก็พาไป อย่างล่าสุดก็เพิ่งไป Vogue Lounge ตรงมหานคร แล้วมีงานสถาปนิกก็พาไปดู พร้อมกับงานของเราเองที่ทำเสร็จแล้วก็จะพาน้องๆ มาปาร์ตี้กัน แล้วก็จะพัฒนาเรื่องความรู้ความสามารถของเขา อย่างเรื่องภาษาอังกฤษเราก็มีคุณครูมาสอนให้ เพราะเรามองว่ามันสำคัญ

มีช่วงไหนไหมที่ไอเดียของคุณแห้งเหือดแล้วจัดการกับมันอย่างไร : แห้งเหือดก็คงเป็นเรื่องปกติ (หัวเราะ) ทุกคนก็คงเคยเจอ แต่เท่าที่สังเกตดู เวลาที่เจออารมณ์แบบนั้นมันมักจะเกิดจากความเหนื่อยล้า อย่างเวลาที่อยู่ตรงที่เดิมนานไปมันคิดอะไรไม่ออก มันตันแล้ว ก็จะบอกน้องๆ ว่าหยุดก่อน ไปผ่อนคลายตัวเอง พักร้อนได้แล้วไป (หัวเราะ) เพราะอย่างพวกพี่ซีเนียร์เขาจะมีวันลาพักร้อน ไปต่างจังหวัด ไปกระบี่ไปดูโรงแรมนู้นโรงแรมนี้ก็จะช่วยได้ แต่ถ้าถึงเวลาทำงานที่ต้องส่งแล้วจริงๆ แล้วยังคิดไม่ออก ก็ต้องมาช่วยกันคิดเพราะคิดคนเดียวมันตัน มาคิดดูกันว่าจริงๆ แล้วปัญหาของมันคืออะไร ถ้าหากว่าเราออกแบบโดยที่ยึดจากลูกค้าหรือองค์กรจริงๆ มันก็มีทางที่จะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้เราอยู่แล้ว

ตอนนี้มีพนักงานกี่คน : นักออกแบบประมาณ30 คน ทีมอื่นก็จะมีทีมก่อสร้าง รวมๆก็ราวๆ 85 คน

แล้วมันมีช่องว่างไหมพนักงานของเราเยอะขนาดนี้ : มีค่ะ จะบอกไม่มีเลยก็ไม่ใช่ ช่องว่างก็จะมักจะเป็นเรื่องของพนักงานซีเนียร์กับจูเนียร์ ก็ต้องมีพนักงานที่เป็นรุ่นระหว่างกลางที่จะช่วยดึงคนข้างบนกับข้างล่างมาเชื่อมกัน ตัวเราเองก็ต้องพยายามศึกษาน้องๆ ด้วยว่าจริงๆ เขาคิดอะไรเขาต้องการอะไร อย่างเด็กรุ่นใหม่เขาก็จะต้องการความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง เราก็ต้องเข้าใจและเป็นกลางให้กับทุกคน

ล่าสุดปีนี้ JARKEN ก็ได้รับรางวัลจากการประกวดอีก ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมว่าทำไมถึงได้รับรางวัล : อย่างของโครงการ Silom Office ที่เราทำให้ซีพีลูกค้าก็ได้รางวัล Asia Pacific Property award 2015-2016 ในสาขา Interiorนี่เป็นรางวัลล่าสุดที่เราได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ได้รางวัลจากประเทศสิงคโปร์มาคือSG Mark 2015 และ ยังได้รางวัล Asia Top Design Practice สาขาออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน ที่ห้กับบริษัทออกแบบที่มี ความโดดเด่นในอุตสาหกรรมออกแบบ และเป็นที่จับตามองในระดับเอเชีย ซึ่งจัดโดย Design Business Chamber ที่คิดว่าที่ได้รางวัลเป็นเพราะว่าเรื่องโจทย์ที่ยากมากของลูกค้าทั้งเรื่องของสภาพโครงสร้างของอาคารเองที่เป็นตึกเก่า ฝ้าเพดานก็เตี้ยมาก ถ้านับงานท่อแล้วความสูงจะอยู่ที่ 2.40 เมตร เอง ซึ่งเราไปแตะเขาไม่ได้ เพราะว่าเราต้องเคารพในบริบทของอาคารก่อน แล้วก็การที่เราทำให้มันอกมาในรูปแบบนั้นได้ เราค่อนข้างที่จะทำงานหนักมาก ในเรื่องของโครงสร้างหน้างาน ผสมกับเรื่องที่เราตีความความหมายองค์กรของเขา ไม่ว่าจะเป็นโลโก้หรือว่าบริเวณของการทำงานต่างๆ ที่ต้องออกมาดูเป็นมืออาชีพ และเป็นออฟฟิศในรูปแบบใหม่ อย่างเช่น ในส่วนของชั้นสี่ที่เป็นส่วนของห้องประชุม เขาก็ต้องการที่จะไว้ใช้รับแขกต่างชาติ เพราะซีพีลูกค้าเองเขาก็มีการทำงานหลายส่วน ทำให้มีแขกจากประเทศต่างๆ เยอะ เราจะทำอย่างไรให้เขาดูน่าเชื่อถือ

การปรับปรุงของเก่ากับการสร้างใหม่ มันยากง่ายต่างกันอย่างไร ต้องใช้วิธีคิดแตกต่างกันอย่างไร : ถ้าตอบในแง่ของการก่อสร้าง สร้างใหม่ง่ายกว่าแน่นอน งบประมาณก็อาจจะพอๆ กัน อย่างการปรับปรุงซ่อมแซมมันก็จะมีเรื่องของงานระบบที่ของเดิมมันเสียหายไปแล้ว แล้วด้วยวงจรชีวิตของอาคาร ประมาณ 10 ปีก็ต้องรื้อทำใหม่หมดแล้ว ใช้ไม่ได้แล้ว แล้วอีกอย่างเรื่องของการออกแบบ ถ้าเป็นการปรับปรุงเราอาจจะต้องนึกถึงประวัติศาสตร์ขององค์กรนั้นๆ มากกว่าการสร้างขึ้นใหม่ เพราะว่าจริงๆ แล้วเรามองว่าการปรับปรุงเราไม่ควรจะไปทุบรื้อแล้วเปลี่ยนของเขาใหม่หมด โดยไม่คำนึงถึงว่าที่มาที่ไปของเขาเป็นอย่างไร อย่างเช่นงานปรุงปรุงซ่อมแซมบ้านที่เป็นทาวน์เฮ้าส์เก่าของครอบครัวหนึ่งซึ่งอยู่มา 20 ปี เราก็คิดว่าจะเก็บความทรงจำให้กับครอบครัวนี้เอาไว้อย่างไร เพราะเขาก็อยู่กันมาตั้ง 20 ปีแล้ว เราก็คงไม่ไปเปลี่ยนอะไรของเขาหมด เราก็พยายามเก็บรายละเอียด อย่างพวกขอบเฟรมประตู ซึ่งเราก็บอกลูกค้าว่าอะไรที่ยังใช้ได้เราก็จะยังเก็บไว้แต่ก็จะมีการตีความใหม่ด้วย เช่น อาจจะเอาไปทำสีให้เข้ากับดีไซน์ใหม่ และเพื่อให้ทันสมัยขึ้น

งานที่เคยทำมีงานไหนที่รู้สึกระทับใจและอยากเล่าให้ฟังบ้าง : เอาเป็นงานล่าสุดก็แล้วกันนะคะ เป็นบ้านของลูกค้าที่มีลูกเล็กๆ 3 คน แล้วเขาบอกว่าชอบงานที่เราออกแบบมาก บอกว่าอยู่แล้วมีความสุข คือตอนออกแบบเราก็คิดถึงกิจกรรมของเขาตั้งแต่ตื่นเช้ามาจนเข้านอน นึกภาพเขาตอนเช้าที่ตื่นมาชงกาแฟแล้วก็นั่งคุยกัน แล้วก็ให้อาหารปลาไปด้วย พร้อมๆ กับมีสวนในบริเวณบ้าน แบบนี้ก็น่าจะทำให้ครอบครัวนี้มีความสุขกับพื้นที่ตรงนี้ อย่างในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการพักผ่อน ต้องการความเป็นส่วนตัว ก็จะมีห้องพักผ่อนที่แยกกับลูกด้วย ในขณะที่ลูกก็เล่นเสียงดังกับพี่เลี้ยงด้านบน เราก็ออกแบบสวนที่เป็น secret garden ให้เขา สำหรับแยกออกมาพักผ่อนกันเอง

แล้วบ้านของคุณเอง คุณออกแบบอย่างไรบ้าง : เราก็ออกแบบตามใจตัวเองเป็นหลัก ซึ่งเราก็มีบ้านหลายหลัง วันธรรมดาก็อยู่คอนโด เสาร์อาทิตย์ก็อยู่บ้าน แล้วบ้านแต่ละหลังก็จะไม่เหมือนกันเลย ทำให้เรารู้ว่าวิถีชีวิตกับอายุมันส่งผลถึงความเป็นอยู่เหมือนกัน อย่างบ้านหลังแรกก็จะเป็นสไตล์ลอฟต์ บันไดเหล็กโปร่งๆ ไม่มีราวจับ ก็คือเป็นช่วงชีวิตที่ยังไม่มีลูก ต่อมาก็เป็นสไตล์โมเดิร์น นิ่งๆ สีขาวดำ ต่อมาก็มีบ้านที่สีอุ่นๆ จนตอนนี้ก็รู้สึกว่าเราเห็นอะไรมาเยอะขึ้น เดินทางเยอะขึ้น เราก็อยากให้บ้านเป็นสถานที่ที่เก็บความทรงจำต่างๆ กลายเป็นว่าก็มีของเยอะขึ้น แล้วรายละเอียดที่ใส่ไปในจุดต่างๆ ก็เยอะขึ้น

ที่บอกว่าโตขึ้น เดินทางเยอะขึ้น แล้วจากวันที่ออกแบบบ้านหลังแรกจนมาถึงปัจจุบัน มุมมองคุณเปลี่ยนไปมากไหม : ตอนออกแบบช่วงแรกๆ ก็จะคิดเรื่องความสวยงามเป็นหลักอยากทำงานเจ๋งๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน รูปฟอร์มต้องแปลกประหลาด มันก็เป็นการทดลองของเราเองไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้พอได้ทำงานเยอะขึ้นก็ทำให้เราคิดได้ว่าทำยังไงให้คนที่อยู่ในบ้านเขามีความสุขมากกว่า เพราะจริงๆ แล้ว Interior designer ก็คือคนที่สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมในที่ต่างๆ เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานที่ ขององค์กรนั้นๆ เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ ทำให้บ้านหลังนั้นมีความสุข นอกจากลูกค้าเข้าบ้านแล้วมีความสุข รู้สึกว่าบ้านสวยแล้ว เรายังต้องการให้เขาอยู่บ้านนี้แล้วรู้สึกว่ามีพลัง จากแต่ก่อนที่เราคิดแค่เรื่องความสวยงานเป็นหลัก

แล้วทำอย่างไร คนที่อยู่ถึงจะมีความสุข : ก็คืออย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าเราต้องใส่ใจในรายละเอียดทั้งหมด ทั้งเรื่องของฟังก์ชัน เรื่องความสวยงาม ทำให้มันเป็นบ้านของเขา แค่นั้นก็น่าจะทำให้เขามีความสุขได้ค่ะ

ตลาดของ JARKEN ส่วนใหญ่จะเป็นแนว Modern Luxury ใช่ไหม แล้วมันมีความท้าทายอะไรบ้างไหม เช่น การต้องตอบโจทย์ของลูกค้า : จริงๆ แล้วลูกค้าเขาก็ศึกษามาแล้ว เขาก็บอกว่าอยากได้งานสไตล์ JARKEN นี่แหละ คือลูกค้าเขาก็มองภาพออก เหมือนกับเราเป็นแบรนด์สินค้า เขาก็เลือกมาแล้ว ลูกค้าเดี๋ยวนี้ศึกษาข้อมูลละเอียดมาก เขาก็ทำการบ้านมาระดับหนึ่ง ว่าดีไซเนอร์คนนี้กับคนนี้ต่างกันยังไง แล้วฉันชอบแนวใคร เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ค่อยมีปัญหา

ในฐานะอินทีเรีย์ดีไซเนอร์ ได้มองอนาคตของการทำงานไว้อย่างไรบ้าง : ในส่วนของ JARKEN ตอนนี้เราก็เติบโตมากในด้านงาน residential ส่วนงาน commercial เช่นร้านอาหาร โรงแรม มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็พยายามทำงานให้ดีขึ้นให้ประสบความสำเร็จ ในส่วนของตัวเราเอง เราก็คงจะทำงานนี้ไปเรื่อยๆ งานที่ใช้ดีไซน์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็แตกแขนงออกไปเรื่อยๆ ใช้ดีไซน์สร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น ตอนนี้บริษัทเราก็มีการทำ CSR คือทุกวันศุกร์เราจะไปที่โรงพยาบาลรามาฯ โดยทำงานร่วมกับคุณหมอธีระ วรธนารัตน์ ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างการแพทย์กับสถาปัตย์ ชื่อว่าคลินิกถาปัตย์บำบัด เป็น architecture therapy โดยเอาความรู้ของเราไปช่วยปรับปรุงพัฒนาที่อยู่ของผู้ป่วยว่าจะทำอย่างไรหลังจากที่เขาผ่าตัดมาแล้ว เพราะเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น บ้าน เก้าอี้ โต๊ะ ที่นั่ง ห้องน้ำ ครัว ชักโครก ก๊อก ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงหมด ใครๆ ก็สามารถเข้าร่วมได้นะคะ วันศุกร์ 10.30-12.30 น. ที่โรงพยาบาลรามาฯ เราก็จะมีสถาปนิกไปนั่งให้คำปรึกษาเหมือนคุณหมอเลยค่ะ ก็จะมีคนไข้เข้ามาปรึกษา เช่น มีบ้านเป็นห้องแถว หลังจากผ่าตัดก็ขึ้นบันไดไม่ได้แล้ว ก็ต้องแนะนำ ถามเขาก่อนว่าประตูที่บ้านเป็นยังไง มีขั้นสูงไหม จะทำทางลาดได้ไหม ประตูก็ไปเปลี่ยนเถอะ ขอเป็นประตูที่สามารถใช่วีลแชร์เข้ามาได้ ต้องเป็นประตูบานเลื่อนนะ หรือถ้างบไม่มีก็เอาเทปมาแปะบันไดกันลื่นแทน เราก็ต้องเข้าใจว่าผู้ป่วยโรงพยาบาลเขาอาจจะไม่มีงบเยอะ ซึ่งเราก็ให้ซีเนียร์ดีไซเนอร์ของเราไปเข้าร่วมโครงการด้วย น้องๆ เขาก็รู้สึกว่างานออกแบบที่เราทำมันก็มีคุณค่านะ ไม่ใช่ว่าเราจะทำงานให้แต่กับลูกค้าที่มีเงินเยอะ อาชีพเราก็ยังสามารถช่วยคนที่เขามีปัญหาได้

เดี๋ยวนี้คนไทยก็มีผู้สูงอายุมากขึ้น ก็คงมีความต้องการการปรับปรุงสภาพแวดล้อมมากขึ้นด้วย : ใช่ค่ะ คือหลังจากที่เราได้ทำตรงนี้แล้ว เราก็สามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับลูกค้าของเราเองด้วย เพราะคนที่ทำบ้านเขาก็ต้องทำห้องให้คุณพ่อคุณแม่ เราก็สามารถแนะนำเขาได้ เช่น ให้อยู่ชั้นล่างดีกว่า แล้วมีประตูที่สามารถออกได้แบบฉุกเฉิน เป็นประตูกว้างๆ สามารถออกไปแล้วขึ้นรถได้เลย ไม่ต้องวนผ่านทางเดินในบ้าน พวกนี้เราก็จะเสริมเข้าไปในดีไซน์เลย แต่ลูกค้าเขาก็เซนซิทีฟเหมือนกันนะคะ ถ้าเราไปเสนอว่าควรทำเขาก็อาจจะรู้สึกไม่ดี อย่างห้องน้ำ เราก็อยากแนะนำว่าให้ทำกว้างหน่อยนะ เผื่ออนาคตต้องใช้รถเข็น หรือว่าต้องติดราวจับ เราก็ต้องมีวิธีพูดเหมือนกันค่ะ อย่างพื้นที่สาธารณะก็จะมีกฎหมายกำหนด แต่สำหรับบ้านคนก็ไม่มีกฎเกณฑ์ ดังนั้น ถ้าไม่ได้ทำไว้แต่แรกสุดท้ายก็ต้องมาทุบต่อเติมอยู่ดี

แล้วตอนนี้เทรนด์ของการออกแบบเป็นอย่างไรบ้าง จากที่ทำงานมานานได้เห็นอะไรบ้าง : จริงๆ แล้วเทรนด์ของการออกแบบมันก็วนกลับมาเรื่อยๆ อย่างเมื่อก่อนพื้นบ้านก็จะเป็นพื้นไม้ปาเก้ ชิ้นเล็กๆ ต่อมาคนก็นิยมความสวยงามของวัสดุมากขึ้น ถ้าเป็นไม้ก็จะใช้ไม้แผ่นใหญ่ แต่ตอนนี้ปาเก้ก็เริ่มวนกลับมาอีก คือเราคิดว่ามันก็คล้ายๆ แฟชั่น มันก็มีสิทธิ์ที่จะวนกลับมาได้เหมือนกัน แล้วลูกค้าเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เขาจะรู้สไตล์ชัดเจน จากร้านอาหารที่ไป จากสื่อต่างๆ เขาก็จะมีข้อมูล ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องเอาหนังสือมาเป็นตั้งๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้ข้อมูลก่อน ว่าแบบนี้คือโมเดิร์น แบบนี้คือคลาสสิค ตอนนี้ก็ไม่ต้องแล้ว เขารู้หมดแล้วว่าลอฟต์เป็นอย่างนี้ อินดัสเทรียลเป็นอย่างนี้ เรโทร เป็นอย่างนี้ วินเทจเป็นอย่างนี้ แต่สุดท้ายแล้วเรามองว่าสไตล์นั้นขึ้นอยู่กับตัวลูกค้ามากกว่า ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาชอบและสิ่งที่เขาจะผสมผสานกันมากกว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีสไตล์ที่ชัดเจน ซึ่งลูกค้าเขาก็จะมีความต้องการที่หลากหลายและเดี๋ยวนี้โซเชียลมีเดียก็มีอิทธิพลมากขึ้น ทุกคนก็อยากจะโชว์ความเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด ต้องการที่จะแสดงคาแรกเตอร์ของตัวเองให้คนอื่นรู้

แล้วในฐานะนักออกแบบเอง นอกจากการแสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านแล้ว ยังมีอะไรที่ควรคำนึงถึงไหม : จริงๆ การทำที่อยู่นั้น การมองแนวทางที่กลางๆ ไม่หวือหวาก็น่าจะดีที่สุด เพราะว่าบ้านเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่ไปอีกนานการตกแต่งหรือสไตล์ค่อยมาเสริมทีหลังได้ เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต แต่สิ่งที่เป็นหลักๆ อย่างพวกวัสดุ มู้ดแอนด์โทนของภาพรวม การออกแบบฟังก์ชัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า

ถ้าให้ยกตัวอย่างสถานที่ หรือประเทศที่มีการออกแบบที่น่าสนใจ คุณคิดว่าที่ไหนน่าสนใจบ้าง : ก็มีหลายประเทศนะคะ อย่างที่สิงคโปร์ก็จัดระเบียบประเทศตัวเองได้ดีมาก ทั้งเรื่อง landscape ถนน การคมนาคม อย่างอิตาลี เราก็ประทับใจที่เขาใส่ใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเขา ไม่ว่าเขาจะปรับปรุงอาคารอะไรก็ตามเขาก็จะคำนึงถึงความสวยงาม อย่างเช่น เวลาซ่อมแซมโบสถ์เขาก็จะปริ๊นภาพโบสถ์ที่สวยงามมาแปะเอาไว้คือแต่ละประเทศเขาก็จะมีกิมมิก มีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน อย่างฝรั่งเศสเขาก็จะภูมิใจในประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน สังเกตได้ว่าเวลาเขาซ่อมแซมปรับปรุงอาคารสถานที่เขาก็จะยังคงเอกลักษณ์เก่าๆ เอาไว้ เช่นพวกคิ้วบัว ปูนปั้นต่างๆ แต่เขาก็เพิ่มเติมในเรื่องของวัสดุใหม่ๆ เข้าไปด้วย มีการมิกซ์แอนด์แมชต์ ผสมผสานกับของเดิม ของบ้านเราดีไซเนอร์เราก็เก่งอยู่แล้วทั้งในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เรื่องของรสนิยมในการทำงาน เวลาเราไปต่างประเทศทุกคนก็จะบอกว่าชอบเมืองไทยจังเลย ดีไซเนอร์ไทยเวลาออกแบบแล้วคิดทุกอย่าง บนโต๊ะมีอ่างน้ำก็จะมีดอกบัวพับกลีบลอยน้ำ เขาก็ประทับใจ คนต่างชาติจะรู้สึกว่ามาเมืองไทยแล้วรู้สึกสงบ แล้วเมืองไทยเราก็ได้เปรียบในเรื่องของงานฝีมือที่เรามีช่างเก่งๆ

การทำงานของสถาปนิกไทยนั้นมีข้อจำกัดด้านไหนบ้างไหม : เรามองว่าสถาปนิกคนไทยนั้นมีฝีมือและทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะขาดในเรื่องของการแสดงออกมากกว่า อย่างเวลาคิดงานก็จะคิดมาละเอียด ตั้งใจทำมาก แต่ตอนที่จะเสนอผลงานออกมามันจะแตกต่างจากสถาปนิกต่างประเทศที่เขาจะภูมิใจในผลงานของเขามาก ก็ต้องปรับตรงนี้ตั้งแต่วิธีคิดและการนำเสนอ เพื่อสื่อทุกอย่างออกมา ถ้าทำได้เราก็จะไปได้ไกล อย่างสถาปนิกเมืองนอก เขาไม่ได้ออกแบบแค่ตึก แต่เขาแตกแขนงไปถึงพวกพร็อพต่างๆ ด้วย ทั้งแจกัน เครื่องเขียน เสื้อผ้า น้ำหอมกลิ่นของเขาเอง คือเขาแตกไปได้ไกลมาก คือเมื่อเขามีคาแรกเตอร์แล้ว เขาก็สามารถนำเอาคาแรกเตอร์ของเขาใส่เข้าไปได้ทุกส่วน ทั้งออกแบบตึก ข้าวของเครื่องใช้

คุณมีดีไซเนอร์คนไหนที่ชื่นชอบบ้าง : อยากใช้คำว่าชื่นชมดีกว่า ก็คือPATRICIA URQUIOLAซึ่งเราชื่นชมวิธีการของเขาที่เขามั่นคงกับการทำงานในแบบของตัวเอง ถ้าได้เห็นผลงานก็จะรู้เลยว่าเขาทำงานด้วยความอดทนและทำงานด้วยมือจริงๆ เช่น เขาได้แรงบันดาลใจมากจากดอกไม้ แล้วเขาก็นำมาออกแบบเก้าอี้ โดยใช้เชือกมาสาน ใช้หวายมาสาน เรารู้สึกว่างานพวกนั้นมันเป็นงานที่มีคุณค่า เพราะดีไซเนอร์จะต้องลงมาทำเองเยอะมาก ก็คงต้องมีทำเสียทำพลาดบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็ทำได้สำเร็จ เพราะเขามีจุดยืน มี passion ต่องาน

แล้วทาง JARKEN มีการผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองบ้างไหม : ยังค่ะ แต่ก็สนใจ ซึ่งตอนนี้เราจะเปิดเป็น design installation shop ก็คือเป็นแนวคิดว่าจะรวบรวมงานวัสดุจากทั่วโลกที่เราเป็นคนคัดเลือกมาจากที่ต่างๆ ที่เรามองว่าสวยในสายตาของเรา เอามารวบรวมไว้ในช็อปนี้ ก็จะมีพวกไม้ พรม โมเสก กระเบื้อง กระจก หรือแมทัลแฟบริกที่หายาก ที่เรานำเข้ามา เราตั้งใจว่าจะให้เป็น material library ที่สามารถซื้อได้เลย เป็นการลัดขั้นตอนระหว่างลูกค้ากับซัพพลายเออร์ คือเหมือนว่าทุกวันนี้ลูกค้าจะไม่รู้เรื่องวัสดุ เพราะซัพพลายเออร์จะส่งเข้าออฟฟิศดีไซเนอร์เท่านั้น มีแต่ดีไซเนอร์ที่มีข้อมูลวัสดุให้เลือกเป็นปึกๆ เลย เพราะฉะนั้น ดีไซเนอร์ก็จะเป็นคนที่กลั่นกรองเลือกให้ลูกค้า แต่ถ้าเราทำร้านตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่ที่ลูกค้าจะได้มาดูและเลือกสิ่งที่เขาชอบจริงๆ ซึ่งลูกค้าเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักร้านใหญ่ๆ ที่มีสุขภัณฑ์ และกระเบื้องให้เลือก แต่ร้านของเราจะสื่อถึงไลฟ์สไตล์ความเป็น JARKEN ได้มากขึ้น ก็น่าจะเห็นภายในปลายปีนี้ค่ะ

ในการทำอาชีพนี้ ความเป็นผู้หญิงนั้นส่งผลอะไรบ้างไหม : ไม่คิดว่าเสียเปรียบอะไรนะคะ อาจจะมีคนเป็นห่วงบ้างเวลาไปตรวจงานตามไซต์งานที่เราชอบไปคนเดียว ซึ่งเราก็ไปจนชินแล้ว แต่ก็เคยนะที่มีลูกค้าขอดีไซเนอร์ผู้ชาย ไม่เอาผู้หญิง เหตุผลก็คือเขาเคยใช้ดีไซเนอร์ผู้หญิงแล้วคุยกันไม่เข้าใจ เขาก็เลยระบุว่าขอดีไซเนอร์ผู้ชาย แต่ก็ไม่เป็นไรเราเข้าใจ เราก็จะให้น้องผู้ชายในทีมเข้าไป นอกนั้นเท่าที่ทำงานมาก็ไม่มีปัญหาอะไรนะคะ มันอยู่ที่ตัวเราว่าต้องนำเสนอไอเดียให้ลูกค้าเชื่อ ครั้งแรกที่คุยกับลูกค้าสำคัญมากค่ะ ถ้าลูกค้าซื้อไอเดีย การนำเสนอครั้งต่อไปก็ราบรื่น

เดี๋ยวนี้การออกแบบก็ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน คุณมีแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างไรบ้าง : คือ เรื่องนี้มันเป็นจรรยาบรรณของนักออกแบบอยู่แล้ว เราออกแบบไป ลูกค้าจ่ายเงินก้อนใหญ่ในงานที่เราเป็นคนเขียน แน่นอนว่าเราต้องคิดถึงความยั่งยืนอยู่แล้ว อย่างออกแบบบ้านเราก็ต้องคิดว่าออกแบบยังไงถึงจะใช้ได้นาน มันไม่ควรจะไปอิงสไตล์หรือแฟชั่นมากจนเกินไปอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ควรปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสถานการณ์ เช่น การออกแบบร้านอาหาร คลีนิก เราก็ต้องคิดว่าในอนาคตถ้ามีการปรับปรุงเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลายก็ควรจะเคลื่อนที่ได้ง่าย พื้นผิวจะได้ไม่เสียหาย

คำถามสุดท้าย อยากทราบว่าชื่อบริษัท JARKEN นั้นมีที่มาอย่างไร : จริงๆ แล้ว ชื่อ JARKEN มีที่มาจากหุ้นส่วนสองคน ก็คือชื่อเล่นของเรา คือแจนกับ สามีค่ะ เมื่อตอนเปิดบริษัทเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ชื่อแจนก็คือตัว J ส่วน AR ก็มาจาก Architecture ตัวเราก็จะดูเรื่องการออกแบบ ส่วนสามีนั้น ขึ้นต้นด้วยตัว K แล้วก็ทำงาน Engineer ก็คือตัว EN รวมเป็น JARKEN ก็แอบกุ๊กกิ๊กนิดหนึ่งค่ะ บางคนก็ถามว่าเป็นบริษัทมาจากเยอรมันรึเปล่า เพราะชื่ออาจจะฟังดูคล้ายภาษาเยอรมันแต่เป็นบริษัทคนไทยแท้ๆค่ะ

A Day Bulletin